การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานที่มีผลต่อความสามารถในการคิดอ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยเทียบกับเกณฑ์คะแนนที่กำหนดไว้คือ นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 70 และ 2) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องระบบต่างๆในร่างกายของมนุษย์ ที่เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยเทียบกับเกณฑ์คะแนนที่กำหนดไว้คือ นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 70 การวิจัยครั้งนี้มีรูปแบบการวิจัยรูปแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว โดยมีกลุ่มที่ศึกษาเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนมัธยมขนาดเล็กแห่งหนึ่งในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 24 คน จัดการเรียนรู้เรื่องระบบต่างๆในร่างกาย ของมนุษย์โดยใช้ปัญหาเป็นฐานซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นการวางแผน ขั้นการสำรวจตรวจสอบ ขั้นการนำเสนอและลงข้อสรุป และขั้นการสรุปและประเมินการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แบบบันทึกการจัดการเรียนรู้ ใบงาน อนุทินสะท้อนการเรียนรู้ของนักเรียน และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่างๆในร่างกายของมนุษย์ นำผลมาวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย และร้อยละมาเทียบตามเกณฑ์ที่กำหนด
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ พบว่าจำนวนนักเรียนทั้งหมด 24 คนมีนักเรียนผ่านเกณฑ์ 19 คน คิดเป็นร้อยละ 79.67 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือนักเรียนร้อยละ 70 มีคะแนนความสามารถในคิดอย่างมีวิจารณญาณคิดเป็นร้อยละ 70 ขึ้นไป และมีคะแนนความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนรู้ด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 45 คะแนน จากคะแนนเต็ม 60 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 75.00
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่องระบบต่างๆในร่างกายของมนุษย์ พบว่าจำนวนนักเรียนทั้งหมด 24 คนมีนักเรียนผ่านเกณฑ์ 22 คน คิดเป็นร้อยละ 91.67 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือนักเรียนร้อยละ 70 มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่างๆในร่างกายของมนุษย์ คิดเป็นร้อยละ 70 ขึ้นไป และมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่างๆในร่างกายของมนุษย์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนรู้ด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 48.17 คะแนน จากคะแนนเต็ม 60 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 80.28