การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่าน การเขียน สระลดรูปและสระเปลี่ยนรูป อ
ชื่อผู้ศึกษา : นางจริยา ปากอุตสาห์
หน่วยงาน : โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา สำนักการศึกษา เทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ปีที่รายงาน : 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่าน การเขียน สระลดรูปและสระเปลี่ยนรูป กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา โดยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่าน การเขียนสระลดรูปและเปลี่ยนรูปกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน ด้วยแบบฝึกทักษะการอ่าน การเขียนสระลดรูปและเปลี่ยนรูปกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น ในการศึกษาครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/1 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา สังกัดสำนักการศึกษาเทศบาลนครอุดรธานี จำนวน 1 ห้อง จำนวน 25 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง ( Purposive Sampling ) เครื่องมือ ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย
1. แบบฝึกทักษะการอ่าน การเขียน สระลดรูปและสระเปลี่ยนรูป กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 10 เล่ม แต่ละเล่มประกอบด้วยคำชี้แจงในการใช้ จุดประสงค์ การเรียนรู้ มาตรฐานตัวชี้วัด แบบทดสอบก่อนเรียน ใบความรู้ แบบฝึกทักษะ 8 ชุด คำถาม คำเฉลย แบบทดสอบหลังเรียน และเอกสารอ้างอิง
2. แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังเรียนชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก การอ่านแจกลูกสะกดคำ การเขียนคำสระลดรูปหรือเปลี่ยนรูป จำนวน 15 ข้อ
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการศึกษา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาประสิทธิภาพ E1/E2 ของแบบฝึกเสริมประสบการณ์ตามเกณฑ์ และการทดสอบสมมุติฐานโดยใช้ t-test แบบ Dependent Samples
ผลการศึกษา พบว่า
1. แบบฝึกทักษะการอ่าน การเขียนสระลดรูปและเปลี่ยนรูปกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 มีประสิทธิภาพ 97.64/89.60 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ 80/80
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน โดยรวมมีคะแนน หลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียน และเมื่อพิจารณาเป็นรายเล่ม พบว่า แบบฝึกประสบการณ์ทั้ง 10 เล่มมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียน และเมื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากแบบฝึกทักษะการอ่าน พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 15.44 และคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ26.88 ซึ่งคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนําไปใช้
1.1 การจัดกิจกรรมตามแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและสามารถนําไปปรับใช้ในชั้น อื่น ๆ ได้
1.2 แบบฝึกทักษะนี้สามารถนําไปปรับให้สามารถใช้ได้ทั้งในและนอกเวลาเรียน
1.3 แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำนี้ครูควรนําไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับ สภาพแวดล้อม ชุมชน ท้องถิ่นและสภาพโรงเรียนของตนเอง
1.4 คำที่ใช้ในแบบฝึกทักษะต้องเป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พบเห็นได้บ่อย ๆ
2. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยต่อไป
2.1 ควรนําแบบฝึกทักษะนี้ไปใช้ในการวิจัยในชั้นอื่น ๆ เช่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพราะเป็นชั้นที่กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับการอ่านและการเขียนในขั้นต้นของ นักเรียน
2.2 ควรมีการวิจัยและพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนด้วยวิธีการอื่น ๆ
2.3 ควรมีการวิจัยเพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ