การพัฒนาทักษะชีวิตในกิจกรรมแนะแนวด้วยโครงงาน ของนักเรียนชั้น มัธ
ชื่อรายงาน การพัฒนาทักษะชีวิตในกิจกรรมแนะแนวด้วยโครงงาน ของนักเรียนชั้น
มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร
เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา
ผู้วิจัย นางศิริวรรณ เหมะจันทร ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร
เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา
ปีที่ศึกษา 2560
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ประเภทการทดลองตามแบบแผนการวิจัยเชิงทดลองขั้นพื้นฐาน Pre – Experimental Designs โดยใช้การทดลองแบบกลุ่มตัวอย่างเดียวที่มีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (One Group Pretest – Posttest Design) มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เปรียบเทียบผลการเรียนรู้ทักษะชีวิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมแนะแนวด้วยโครงงาน (2) ศึกษาความสามารถในการทำโครงงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร และ (3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร ที่มีต่อการจัดกิจกรรมแนะแนวด้วยโครงงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 34 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย (1) แผนการจัดกิจกรรมแนะแนวเรื่องทักษะชีวิตที่จัดกิจกรรมด้วยโครงงาน (2) แบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้เรื่องทักษะชีวิต (3) แบบประเมินความสามารถในการทำโครงงาน และ(4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมแนะแนวด้วยโครงงาน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที
ผลการวิจัยพบว่า
1) ผลการเรียนรู้ทักษะชีวิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมแนะแนวด้วยโครงงาน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 โดยค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะชีวิตของนักเรียน หลังการจัดกิจกรรมแนะแนวมีค่าเฉลี่ยของคะแนนสูงกว่าก่อนการได้รับกิจกรรม
2) ความสามารถในการทำโครงงานของนักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมแนะแนวด้วยโครงงาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับสูงเรียงตามลำดับ ได้แก่ การวางแผนในการทำโครงงาน การลงมือทำโครงงาน ส่วนการเลือกหัวข้อเรื่องหรือปัญหาที่จะศึกษา การนำเสนอผลงานและการเขียนรายงานอยู่ในระดับปานกลาง
3) ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมแนะแนวด้วยโครงงาน โดยภาพรวมนักเรียนเห็นด้วยอยู่ในระดับมากทั้งสามด้าน เรียงตามลำดับคือ ด้านประโยชน์ที่ได้รับจากการร่วมปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และด้านบรรยากาศในการเรียนรู้