การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์กราฟิก
ผู้วิจัย นางสาวพัชรี บุญค้ำ
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop CS6 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
2) พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop CS6 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop CS6 ที่พัฒนาขึ้น 3.1) หาประสิทธิภาพด้านกระบวนการและประสิทธิภาพผลลัพธ์ของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop CS6 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3.2) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3.3) เปรียบเทียบทักษะการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop CS6 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3.4) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้เก็บข้อมูลการสัมภาษณ์ ได้แก่
ครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ จำนวน 4 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จาก 4 โรงเรียน โรงเรียนละ 3 คน รวมนักเรียน 12 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการในในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์กราฟิก ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จาก 4 โรงเรียน โรงเรียนละ 10 คน รวม 40 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนดอนเงินพิทยาคาร อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ปีการศึกษา 2561 จำนวน 19 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ 2) แบบสัมภาษณ์นักเรียน 3) รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น 4) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 9 แผน ๆ ละ 2 ชั่วโมง 5) แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ จำนวน 4 ข้อ 6) แบบวัดทักษะการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop CS6 7) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบด้วย t-test (Dependent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop CS6 พบว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครูยังเน้นการอธิบายและปฏิบัติให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่าง นักเรียนจึงไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ให้บรรลุเป้าหมายได้ ครูยังให้ความสำคัญกับลำดับขั้นตอน แล้วนักเรียนปฏิบัติตามขั้นตอนที่ครูอธิบายเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ถูกต้อง ไม่ได้สนับสนุนและเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดหาแนวทาง แบบแผนการปฏิบัติที่แตกต่างหลากหลายด้วยวิธีการแบบใหม่ อีกทั้งนักเรียนจดจำวิธีการปฏิบัติวิธีตามขั้นตอนที่ครูอธิบายแนะนำไว้เท่านั้น ขาดการฝึกคิดค้นหาวิธีการตามแนวทางใหม่ จึงส่งผลให้นักเรียนขาดโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และทักษะการใช้โปรแกรมต่าง ๆ
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop CS6 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีองค์ประกอบดังนี้ 1) หลักการแนวคิด และทฤษฎีพื้นฐาน 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) ระบบสนับสนุน โดยมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 5 ขั้นประกอบด้วย ขั้นที่ 1 นำเข้าสู่บทเรียน ขั้นที่ 2 จัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 3 ปฏิบัติและสรุปความรู้หลักการปฏิบัติ ขั้นที่ 4 สื่อสารและนำเสนอ ขั้นที่ 5 สรุปและนำหลักการไปประยุกต์ใช้
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop CS6 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า 1) ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.30/83.95 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
ที่ตั้งไว้ 2) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์หลังเรียน
สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีทักษะการใช้โปรแกรม Adobe Photoshop CS6 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 4) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05