การใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาด้าน
ด้านการฟังและการพูด ชั้นอนุบาลปีที่ 1
ผู้ศึกษา นางชนาภัทร มาระครอง
ชื่อหน่วยงาน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านห้วยปลาโดศรีสามารถ
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาผลการใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนา
ทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูด ชั้นอนุบาลปีที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อ
1. พัฒนาหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 10 เล่ม 2. หาดัชนีประสิทธิผลของการใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กชั้นอนุบาล
ปีที่ 1 และ 3. เปรียบเทียบทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูดก่อนและหลังการฝึกประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง จำนวน 10 เล่ม ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียน
บ้านห้วยปลาโดศรีสามารถ สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
ปีการศึกษา 2561 จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1. แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง จำนวน 50 แผน 2. หนังสือภาพประกอบ
คำคล้องจอง จำนวน 10 เล่ม และ 3. แบบสังเกตพฤติกรรมการพัฒนาทักษะทางภาษาด้านการฟัง
และการพูด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index : E.I.) และการเปรียบเทียบพฤติกรรมทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูดด้วยการทดสอบ t – test แบบ Dependent Samples
ผลการศึกษาพบว่า
1. หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 10 เล่ม ที่สร้างขึ้น
มีความเหมาะสมทุกด้าน ทั้งด้านเนื้อเรื่อง ลักษณะรูปเล่ม การใช้ภาษา ภาพประกอบและประโยชน์
ต่อการเรียนการสอนโดยมีค่าเฉลี่ย 4.92
2. ดัชนีประสิทธิผลของการใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านห้วยปลาโดศรีสามารถ สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี มีค่าเท่ากับ 0.8802 หมายความว่า เด็กชั้นอนุบาล
ปีที่ 1 มีทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูดเพิ่มขึ้นร้อยละ 88.02
3. เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านห้วยปลาโดศรีสามารถ สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี มีทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูดหลังจากได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05