รายงานผลการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย
ชื่อเรื่อง : รายงานผลการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับ
การจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ชั้นปฐมวัยที่ 2 (อายุ 3-4 ขวบ)
ชื่อผู้ศึกษา : สาร๊ะ งะสมัน
ปีการศึกษา : 2562
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยระหว่างการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ ชั้นปฐมวัยที่ 2 (อายุ 3-4 ขวบ) ห้องที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลควนขัน จำนวน 23 คน โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย คู่มือการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย แผนการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย และแบบประเมินเชิงปฏิบัติการทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ดำเนินการประเมินเชิงปฏิบัติการทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ก่อนการจัดกิจกรรมการทดลอง ระหว่างการทดลอง ในช่วงสัปดาห์ที่ 1-10 ดำเนินการจัดกิจกรรมตามคู่มือ การจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จนครบ 10 สัปดาห์ จึงทำการประเมินเชิงปฏิบัติการทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย หลังการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์โดยใช้แบบประเมินเชิงปฏิบัติการทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยชุดเดียวกัน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าร้อยละและค่า t-test สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้
1. ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นปฐมวัยที่ 2 (อายุ 3-4 ขวบ) ห้องที่ 2 ระหว่างการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นช่วงสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 1- 10 ทั้งรายพฤติกรรมและภาพรวมมีคะแนนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทุกสัปดาห์มีผลการพัฒนาที่ดีขึ้น ซึ่งเป็น ไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้
2. ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยหลังการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ คือ ด้านการสังเกต หลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมโดยมีค่าความแตกต่างที่ร้อยละ 66.00 ด้านการจำแนกประเภทหลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรม โดยมีค่าความแตกต่างที่ร้อยละ 55.80 ด้านการสื่อความหมาย หลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมโดยมีค่าความแตกต่างที่ร้อยละ 58.20 ด้านการลงความเห็นหลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมโดยมีค่าความแตกต่างที่ร้อยละ 56.60 และในภาพรวมก่อนการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยรวม 1.98 คิดเป็นร้อยละ 39.55 หลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยรวม 4.94 คิดเป็นร้อยละ 98.70 และมีค่าความแตกต่างเฉลี่ยรวม 2.96 คิดเป็นร้อยละ 59.15 ซึ่งมีความแตกต่างกันในทางที่ดีขึ้นเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้