ผลการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย
ผู้ศึกษา นางสาวอารีรัตน์ จิรอมรพงศ์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สังกัด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอนุบาลวัดวังน้ำขาว เทศบาลตำบลวังตะเคียน
อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
ผลการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับเด็กปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอนุบาลวัดวังน้ำขาว โดยใช้กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัยชั้นเตรียมอนุบาลปีที่ 1 ระหว่างก่อนและหลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนชาย-หญิง ที่มีอายุ 3 ขวบ กำลังศึกษาอยู่ในชั้นเตรียมอนุบาลปีที่ 1/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอนุบาลวัดวังน้ำขาว เทศบาลตำบลวังตะเคียน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท จำนวน 25 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้เวลาในการทดลอง 3 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ จำนวน 15 แผน คู่มือชุดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ แบบทดสอบวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัย แบบสังเกตพฤติกรรมด้านความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัย สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ("X" ̅) ค่าร้อยละ (%) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการศึกษา พบว่า
1. ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัยหลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ โดยภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก มีค่าเฉลี่ย ("X" ̅) เท่ากับ 52.72 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 2.17
2. การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัยชั้นเตรียมอนุบาลปีที่ 1 ก่อนการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ย ("X" ̅) เท่ากับ 32.64 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 2.06 และหลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้อยู่ในระดับดีมาก มีค่าเฉลี่ย ("X" ̅) เท่ากับ 52.72 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 2.17 และเมื่อเปรียบเทียบ ผลการพัฒนาก่อนและหลังการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัยโดยใช้กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05