การสร้างและพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ สาระภูมิศาสตร์ โดยใช้
รูปแบบการสอนร่วมมือแบบ STAD ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางสุธาทิพย์ ทิพยรักษ์
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 1 (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์)
สังกัดเทศบาลเมืองชุมแพ
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การสร้างและพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ สาระภูมิศาสตร์ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ โดยใช้รูปแบบการสอนร่วมมือแบบ STAD มีวัตถุประสงค์คือ1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สำหรับพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ สาระภูมิศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการสอนร่วมมือแบบ STAD ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ สาระภูมิศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการสอนร่วมมือแบบ STAD ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 3) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ สาระภูมิศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการสอนร่วมมือแบบ STAD ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ4) เพื่อศึกษาความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ สาระภูมิศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการสอนร่วมมือแบบ STAD ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/2 ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) โรงเรียนเทศบาล 1 (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) สังกัดเทศบาลเมืองชุมแพ จำนวน 1 ห้องเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562
จำนวน 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ สาระภูมิศาสตร์ โดยใช้การสอนแบบร่วมมือแบบ STAD จำนวน 10 แผน 2) แบบทดสอบวัดความรู้ เรื่องภูมิศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 50 ข้อ และ 3) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนต่อการเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ สาระภูมิศาสตร์ โดยใช้การสอนแบบร่วมมือแบบ STAD เพื่อสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมุติฐานโดยใช้ t-test
สรุปผลการวิจัย
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ทั้งหมด มีนักเรียนได้ระดับผลการเรียนระดับคะแนน ตั้งแต่ 3 ขึ้นไปน้อยมาก คิดเป็นร้อยละ 50 ของนักเรียนทั้งหมด และสาเหตุที่เป็นปัญหาทำให้นักเรียนไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ คือ นักเรียนขาดการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน บทบาทครูผู้สอนมีมากเกินไป นักเรียนมักท่องจำจากหนังสือมาตอบ ไม่สามารถเขียนอธิบายวิเคราะห์ สังเคราะห์เชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เรียน ซึ่งทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากนักเรียนไม่เข้าใจในความคิดรวบยอดในการเรียนเนื้อหาในแต่ละเรื่อง ทำให้ไม่สามารถสรุปเป็นความคิดของตนออกมาได้
2. สามารถสร้างแผนทั้งหมดได้ 10 แผนและประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ มีค่าเท่ากับ 75.61/81.17 (E1/E2=75.61/81.17)
3. ทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนที่เรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ สาระภูมิศาสตร์ โดยใช้กลวิธีการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ ในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้มีนักเรียนผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 70 ขึ้นไปทุกแผนการจัดการเรียนรู้ ฯ โดยมีเพียงแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 และ 2 มีนักเรียนผ่านเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 43.80 และ 68.80 ตามลำดับ
คะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการสอนร่วมมือแบบ STAD ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/4 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น มีค่าเฉลี่ย 29.06 และ32.46 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพบว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ สาระภูมิศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการสอนร่วมมือแบบ STAD ในระดับพึงพอใจมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านการวัดและประเมินผลมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด เท่ากับ 4.57 รองลงมา คือด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ค่าเฉลี่ย 4.56 และด้านสาระการเรียนรู้ ค่าเฉลี่ย 4.53