การประเมินผลการนิเทศการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
สมเจตน์ อยู่ศรี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการนิเทศการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดเทศบาลนครแม่สอดด้วยการนิเทศแบบชี้แนะ (Coaching) โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ IPO มีวัตถุประสงค์การประเมินเฉพาะเพื่อ 1) ประเมินปัจจัยเบื้องต้นการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดเทศบาลนครแม่สอด 2) ประเมินกระบวนการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลนครแม่สอด และ 3) ประเมินผลผลิตจากการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดเทศบาลนครแม่สอด ผู้ให้ข้อมูลได้แก่ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและครูผู้ดูแลเด็ก/ผู้ดูแลเด็ก จำนวน 28 คน จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดเทศบาลนครแม่สอด จำนวน 5 แห่ง ในปีการศึกษา 2561 เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบ Likert Scale มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ และการรวบรวมสารสนเทศ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า IOC และการวิเคราะห์สารสนเทศ
ผลการวิจัยพบว่า
1. ปัจจัยเบื้องต้นการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดเทศบาลนครแม่สอด ในภาพรวมมีผลการประเมินเหมาะสมดีมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่าทุกด้านมีผลการประเมินเหมาะสมดีมาก ด้านที่มีผลการประเมินเฉลี่ยสูงสุดคือด้านความพร้อมของครูผู้ดูแลเด็กเล็ก/ผู้ดูแลเด็ก
2. กระบวนการการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดเทศบาลนครแม่สอด ในภาพรวมมีผลการประเมินเหมาะสมดีมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ทุกด้านมีผลการประเมินเหมาะสมดีมาก ด้านที่มีผลการประเมินเฉลี่ยสูงสุดคือด้านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
3. ด้านผลผลิตการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดเทศบาลนครแม่สอด ในภาพรวมเด็กมีระดับพัฒนาการอยู่ในเกณฑ์ดีทุกข้อ โดยด้านที่ 1 พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กส่วนใหญ่มีพัฒนาการระดับ 3 ร้อยละ 98.66 ด้านที่ 2 พัฒนาการด้านอารมณ์-จิตใจ เด็กส่วนใหญ่มีพัฒนาการระดับ 3 ร้อยละ 98.12 ด้านที่ 3 พัฒนาการด้านสังคม เด็กส่วนใหญ่มีพัฒนาการระดับ 3 ร้อยละ 93.30 และด้านที่ 4 พัฒนาการด้านสติปัญญา เด็กส่วนใหญ่มีพัฒนาการระดับ 3 ร้อยละ 87.94
ผลการวิเคราะห์ความคิดของหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและครูผู้ดูแลเด็ก/ผู้ดูแลเด็กพบว่าเทศบาลนครแม่สอดควรจัดฝึกอบรมพัฒนาครูในด้านเทคนิคการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก
มีความหลากหลายและทันสมัย เน้นด้านส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ควรพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับพหุวัฒนธรรม และควรมีการจัดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพให้มีคุณภาพ
ข้อเสนอแนะ
1. การนิเทศแบบชี้แนะ (Coaching) เป็นกระบวนการที่สำคัญช่วยส่งเสริมสมรรถนะการปฏิบัติงานของหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้ดูแลเด็ก/ผู้ดูแลเด็ก โดยเน้นการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้ผู้รับการนิเทศมีความรู้ความเข้าใจ นำไปสู่การปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์มีประสิทธิภาพ
2. การใช้รูปแบบประเมินแบบ IPO และการเก็บรวบรวมข้อมูลจากหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้ดูแลเด็ก/ผู้ดูแลเด็ก ส่งผลให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญและมีคุณภาพในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการนิเทศให้ประสบความสำเร็จ