การพัฒนารูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางศศิรัตน์ คล้ายเข็ม ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนบ้านหนองตาแต้ม (ราชประชานุxxxล) ปีที่ขอ 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการสร้างรูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 4) เพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาวิจัยประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครูผู้สอน จำนวน 16 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 35 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 35 คน ของโรงเรียนบ้านหนองตาแต้ม (ราชประชานุxxxล) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม และแบบประเมิน สถิติ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการศึกษาพบว่า
1. จากศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการสร้างรูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พบว่า สภาพปัจจุบันเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการของครูมีปัญหา ดังนี้ ความรู้ในการเขียนแผนการสอนแบบบูรณาการ การสนับสนุนของสถานศึกษาส่งเสริมให้ครูเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหลักสูตรบูรณาการ ความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ การจัดการเรียนการสอนมีการบูรณาการเชื่อมโยงเนื้อหาต่างรายวิชา การสนับสนุนจากชุมชนในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ การจัดทำหลักสูตรแบบบูรณาการ ตามลำดับ
2. ผลสร้างรูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พบว่า
2.1 ความคิดเห็นของผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูผู้สอน ที่มีต่อรูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ขึ้นไปทุกด้าน และทุกข้อ ได้แก่ ด้านความเป็นตัวของตัวเอง ด้านเอื้ออำนวยการเรียนรู้และสร้างแรงจูงใจ ด้านลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบ และด้านพบและติดตาม
2.2 คุณภาพของรูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการใช้รูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พบว่า ภายหลังการนำรูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ไปปฏิบัติของครูผู้สอน ในภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงจากค่าเฉลี่ยมากไปน้อย คือ ด้านความเป็นตัวของตัวเอง รองลงมาคือ ด้านลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ด้านเอื้ออำนวยการเรียนรู้และสร้างแรงจูงใจ และด้านพบและติดตาม ตามลำดับ
4. ผลประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พบว่า
4.1 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานหลักสูตร หลังการใช้รูปแบบสูงกว่าก่อนใช้รูปแบบทุกคุณลักษณะที่พึงประสงค์
4.2 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ หลังการใช้รูปแบบสูงกว่าก่อนใช้รูปแบบ
4.3 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังการใช้รูปแบบสูงกว่าก่อนใช้รูปแบบทุกรายวิชา
4.4 นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน มีความพึงพอใจต่อผลที่เกิดกับนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก