การพัฒนาชุดการจัดประสบการณ์เรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์โดยใช้กระบวนฯ
สำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนเทศบาล 4 อนุบาลพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จังหวัดอุบลราชธานี
ผู้วิจัย พัชนีพร ปรีดีสนิท
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาล 4 อนุบาลพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์โดยใช้กระบวนการสืบเสาะสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์โดยใช้กระบวนการสืบเสาะสำหรับเด็กปฐมวัยโรงเรียนเทศบาล 4 อนุบาลพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จังหวัดอุบลราชธานี ประชากรที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาล 4 อนุบาลพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จำนวน 20 คน เครื่องมือการวิจัยเป็นชุดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์โดยใช้กระบวนการสืบเสาะ และแบบประเมินทักษะวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยและทดสอบสมมติฐาน โดยใช้การทดสอบ t-test แบบ Pair-test
ผลการวิจัย มีดังนี้
1. ผลการหาประสิทธิภาพของชุดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ พบว่า ร้อยละของคะแนนเฉลี่ยระหว่างเรียน เท่ากับ 81.79 ขณะที่ร้อยละของคะแนนเฉลี่ยผลการเรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์จากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เท่ากับ 80.18 ซึ่งพบว่าประสิทธิภาพชุดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์โดยใช้กระบวนการสืบเสาะสำหรับเด็กปฐมวัย มีค่าเป็น 81.79/80.18 เป็นไปตามสมมติฐาน
2. ผลการเรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์ พบว่า ก่อนการได้รับการจัดประสบการณ์ พบว่า ผลการเรียนรู้โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.95 เมื่อพิจารณาตามรายทักษะ พบว่า ทุกทักษะมีผลการเรียนรู้อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.50 – 2.30 โดยที่หลังการได้รับการจัดประสบการณ์ พบว่า ผลการเรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์โดยรวมอยู่ในระดับสูง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.16 เมื่อพิจารณาตามรายทักษะ พบว่า ทุกทักษะมีผลการเรียนรู้ในระดับสูง มีค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.80 – 3.95
3. การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์ พบว่า คะแนนเฉลี่ยผลการเรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์หลังการจัดประสบการณ์ เท่ากับ 22.45 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนการจัดประสบการณ์ที่มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 13.65 โดยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการศึกษาเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้