การใช้ชุดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก
ผู้รายงานนางอมรรัตน์ น้อยมะลิวัลย์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลชุดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย 3) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อ ก่อนและหลังการเรียนชุดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้เป็น นักเรียนชั้นเตรียมอนุบาล ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดธาตุสว่างโนนยาง สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลกุดสระ ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ได้มาโดยการแบบสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Sampling) จำนวน 1 ห้องเรียน นักเรียน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย จำนวน 12 แผน ชุดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย จำนวน 12 ชุด แบบวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กเพื่อใช้วัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก จำนวน 16 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (B) ตั้งแต่ 0.54 ถึง 0.89 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.94 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมุติฐานใช้ t–test (Dependent Samples) ผลการศึกษาปรากฏ ดังนี้
1. การจัดกิจกรรมโดยใช้ชุดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.75/83.67 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมโดยใช้ชุดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย มีค่าเท่ากับ 0.5882 หรือคิดเป็นร้อยละ 58.82 แสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนร้อยละ 58.82
3. นักเรียนที่จัดกิจกรรมโดยใช้ชุดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย มีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
โดยสรุป การจัดกิจกรรมใช้ใช้ชุดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัย เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ