การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ โดยใช้ KULRAWEE Model
ผู้วิจัย : นางกุลระวีศ์ ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน
ปีการศึกษา : 2561
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ โดยใช้ KULRAWEE Model เพื่อส่งเสริมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ โดยใช้ KULRAWEE Model เพื่อส่งเสริมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน 2) ศึกษาผลการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ โดยใช้ KULRAWEE Model เพื่อส่งเสริมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน ดังนี้ 2.1) พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู ก่อนและหลังการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ โดยใช้ KULRAWEE Model เพื่อส่งเสริมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน 2.2) พฤติกรรมด้านการเรียนรู้ของนักเรียน ก่อนและหลังการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ โดยใช้ KULRAWEE Model เพื่อส่งเสริมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน 3) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน ดังนี้ 3.1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3.2) ผลการวัดความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 3.3) ผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 4) ศึกษาความพึงพอใจของครู นักเรียน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ โดยใช้ KULRAWEE Model เพื่อส่งเสริมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ 1) ครูผู้สอนเลือกแบบเจาะจงเฉพาะข้าราชการและพนักงานครูปีการศึกษา 2561 จำนวน 30 คน 2) กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเลือกเจาะจงเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 13 คน 3) นักเรียนเลือกเจาะจงเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 246 คน และ 4) ผู้ปกครองนักเรียนเลือกเจาะจงเฉพาะผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 246 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู จำนวน 10 ข้อ 2) แบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน จำนวน 10 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน ครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง จำนวน 10 ข้อ นอกจากนี้ยังมีแบบบันทึกข้อมูล จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบบันทึกผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษา 2) แบบบันทึกผลการทดสอบ NT และ 3) แบบบันทึกผลการทดสอบ O-NET สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบที (t-test)
สรุปผลการวิจัย
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ โดยใช้ KULRAWEE Model เพื่อส่งเสริมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน พบว่า ความคิดเห็นของศึกษานิเทศและครูผู้สอนมีความต้องการพัฒนารูปแบบการนิเทศภายใน โดยการนิเทศที่ใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน
2. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ เพื่อส่งเสริมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน พบว่า รูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน ได้แก่ รูปแบบที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากข้อมูลพื้นฐาน คือ KULRAWEE Model มีขั้นตอนการดำเนินงานนิเทศภายใน 6ขั้นตอน ดังนี้ 1) K : Knowledge Sharing ขั้นการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ 2) U : Understanding Sharing ขั้นการหาความต้องการและความจำเป็นของการนิเทศภายใน 3) L : Leading By design ขั้นการวางแผนการนิเทศ 4) R : Reflection and Discussion ขั้นการเตรียมการนิเทศ 5) A : Action to change, W : work on Real content , E : Encourage Stroke ขั้นการปฏิบัติการนิเทศ และ 6) E : Evaluating and Reporting ขั้นการประเมินผลปรับปรุงการนิเทศและรายงานผล
3. พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูตามความคิดเห็นของนักเรียน อยู่ในระดับมาก
4. พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนตามความคิดเห็นของครู อยู่ในระดับมาก
5. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษา หลังการพัฒนาสูงกว่าก่อนพัฒนา
6. ผลการวัดความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT) มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ในระดับชาติ
7. ผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ผ่านเกณฑ์ระดับชาติ
8. ครู นักเรียน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ โดยใช้ KULRAWEE Model เพื่อส่งเสริมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน อยู่ในระดับมาก