การพัฒนาทักษะพื้นฐานการปฏิบัติขลุ่ยไทย
การฝึกปฏิบัติเป็นรูปแบบของการจัดการเรียนรู้แบบหนึ่งที่สามารถพัฒนาการเรียนรู้โดยเน้นประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับ ทั้งด้านทฤษฏีและปฏิบัติ
โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัดและปลูกฝังให้ผู้เรียนรักความเป็นไทย การศึกษาวิจัยนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานการปฏิบัติขลุ่ยไทย สาระที่ 2 ดนตรี กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อพัฒนาความสามารถในการพัฒนาทักษะพื้นฐานการปฏิบัติขลุ่ยไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ หลังใช้การพัฒนาทักษะพื้นฐานการปฏิบัติขลุ่ยไทยกับเกณฑ์ 80 และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่ฝึกปฏิบัติโดยใช้เอกสารการพัฒนาทักษะพื้นฐานการปฏิบัติขลุ่ยไทย โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาลวัดละหาร สังกัดเทศบาลเมืองบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ เอกสารการพัฒนาทักษะพื้นฐานการปฏิบัติขลุ่ยไทย วิธีเป่าขลุ่ยไทย โน้ตขลุ่ยไทย แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการหาค่าประสิทธิภาพ (E1/ E2) ซึงผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาทักษะพื้นฐานการปฏิบัติขลุ่ยไทย สาระที่2 ดนตรี กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพ (E1/ E2) เท่ากับ 82.75/87.20 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ 80/80 จากการทดสอบระหว่างเรียน ประเมินผลตามสภาพจริง (Rubrics) ระหว่างเรียน มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 82.75 หลังการใช้แบบฝึกทักษะกับเกณฑ์ 80 คะแนน และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เอกสารการพัฒนาทักษะพื้นฐานการปฏิบัติขลุ่ยไทย อยู่ในระดับมาก แสดงให้เห็นว่านักเรียนที่เรียนด้วยเอกสารการพัฒนาทักษะพื้นฐานการปฏิบัติขลุ่ยไทยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น จึงควรนำเอกสารการพัฒนาทักษะพื้นฐานการปฏิบัติขลุ่ยไทยไปใช้เพื่อให้การเรียนการสอนดนตรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ