การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบ READ โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม
เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานการอ่านของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3
ผู้วิจัย กฤติมา สืบเสาะเสมอ
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบ READ โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานการอ่านของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 2) เพื่อศึกษา ผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ READ โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานการอ่านของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 และ 3) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ READ โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานการอ่านของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 การดำเนินการวิจัยครั้งนี้ แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาแนวคิดทฤษฎีเพื่อกำหนดกรอบแนวคิดของรูปแบบ ระยะที่ 2 การสร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญประเมินความเหมาะสมของรูปแบบและนำไปทดลองนำร่องกับเด็กปฐมวัยที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง ระยะที่ 3 เป็นการนำรูปแบบ
การเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นไปใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนบ้านภูมิสตึง อำเภอลำดวน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 จำนวน 31 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) และระยะที่ 4 การประเมินผลการใช้รูปแบบ การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ( t – test) แบบ Dependent Sample
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนแบบ READ โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานการอ่านของเด็ก
ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่พัฒนาขึ้น มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) เนื้อหา 4) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ และ 5) การวัดผลและประเมินผล ซึ่งขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ มีชื่อว่า READ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นทบทวนพื้นฐานการอ่าน (Review) ขั้นขยายความรู้การอ่าน (Expand Knowledge) ขั้นนำความรู้ไปใช้ฝึกอ่าน (Applied to Practice) และขั้นพัฒนา การอ่าน (Development reading) ผลการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x-bar = 4.70 , S.D. = 0.46) และรูปแบบมีค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) เท่ากับ 0.6463 คิดเป็นร้อยละ 64.63
2. เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ READ โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม มีทักษะพื้นฐานด้านการอ่านหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผู้ปกครองของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอนแบบ READ โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานการอ่าน อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด (x-bar = 4.59, S.D. = 0.51)