เผยแพร่งานวิจัย
ที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์
จากแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ ระดับปฐมวัย ชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 3 - 4 ปี)
ผู้ศึกษา สายรัตน์ ตรีจันทร์
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
รายงานผลการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จากแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ ระดับปฐมวัย ชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 3 - 4 ปี) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกกลาง องค์การบริหารส่วนตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จากแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ ของเด็กปฐมวัย ชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 3 - 4 ปี) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกกลาง องค์การบริหารส่วนตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด
2. เพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของเด็กปฐมวัย ชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 3 - 4 ปี)ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกกลาง องค์การบริหารส่วนตำบลผาน้ำย้อย
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงทดลองโดยใช้ระยะเวลาทำการศึกษาทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ในกิจกรรมเสริมประสบการณ์เป็นเวลา 8 สัปดาห์ๆละ 3 วัน รวม 24 วันวันละ 30 นาทีและในวันที่ไปศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติใช้เวลา 60 นาที โดยประชากรที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้คือเด็กนักเรียนชาย-หญิงที่มีอายุระหว่าง 3-4 ปีที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นเตรียมอนุบาลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกกลาง จำนวน 10 คน ได้มาแบบเจาะจง (Purposive sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่
1. แผนการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ จำนวน 24 แผน ซึ่งมีค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (IOC : Index of Item Objective Congruence) เท่ากับ 0.96
2. แบบสังเกตพฤติกรรมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (IOC : Index of Item Objective Congruence) เท่ากับ 1 และมีค่าความเชื่อมั่น (RAI : Rater Agreement Indexes) เท่ากับ 0.94
3. แบบทดสอบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (IOC : Index of Item Objective Congruence) เท่ากับ 1 และมีค่าความเชื่อมั่น (RAI : Rater Agreement Indexes) เท่ากับ 0.94
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมติฐานโดยการเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนพฤติกรรมด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยก่อนการทดลองและหลังการทดลอง โดยการใช้สูตร t – test แบบ Dependent Samples
ผลการศึกษาพบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สูงขึ้นตลอดช่วงเวลาของการจัดกิจกรรม