ผลการดำเนินโครงการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โรงเรียนบ้านผาต้าย
ชื่อเรื่อง รายงานผลการดำเนินโครงการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ
พอเพียง โรงเรียนบ้านผาต้าย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
ผู้รายงาน นายสุเธียร โกกาธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านผาต้าย
การรายงานผลการดำเนินโครงการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านผาต้าย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการและประเมินความพึงพอใจขอผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านผาต้าย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยใช้รูปแบบทฤษฎีเชิงระบบและกระบวนการวงจรคุณภาพ ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ประชากรที่ใช้ ประกอบด้วย นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และบุคคลอื่น รวมทั้งสิ้น 186 คน กลุ่มเป้าหมายจำนวน 154 คน ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนบ้านผาต้าย เลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 27 คน กำหนดเกณฑ์การเลือก คือ นักเรียนที่สามารถอ่านข้อคำถามและตอบแบบสอบถามได้ด้วยตนเอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนบ้านผาต้าย จำนวน 8 คน ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านผาต้าย จำนวน 50 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านผาต้ายที่ไม่ใช่ผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้แทนครู จำนวน 7 คน และ บุคคลอื่น จำนวน 62 คน โดยได้รายงานผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4 ฐาน คือ 1) การปลูกพืชผักสวนครัว 2) การประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุเหลือใช้ 3) ออมวันละนิดชีวิตพอเพียง และ 4) การสวดมนต์ประจำสัปดาห์ทุกวันศุกร์ เครื่องมือที่ใช้มี 2 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 เป็นแบบบันทึกการดำเนินโครงการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านผาต้าย ฉบับที่ 2 เป็นแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินงานโครงการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้าน ผาต้าย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สรุปผลได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานโครงการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านผาต้าย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในแต่ละฐานการเรียนรู้ สรุปได้ดังนี้
1.1 ฐานที่ 1 การปลูกพืชผักสวนครัว ผู้บริหาร ครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษา ร่วมประชุมเพื่อดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการปลูกพืชผักสวนครัว ผู้บริหารมอบหมายให้ครูผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจากเดิมซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 และผลการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้โรงเรียนได้รับเกียรติบัตร “สถานศึกษาพอเพียง 2559” ณ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 ว่าได้ผ่านเกณฑ์การประเมินสถานศึกษาแบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2559 จากกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นโรงเรียนจึงได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอด ซึ่งครูผู้รับผิดชอบได้ จัดกิจกรรมให้ความรู้และการปฏิบัติจริงผ่านการทำงาน 5 ขั้นตอน คือ การเตรียมแปลง การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา และการเก็บผลผลิต นอกจากการจัดกิจกรรมในโรงเรียนแล้วยังได้รับความร่วมมือจากวิทยากรภายนอกที่ได้มาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคนิค วิธีการ และการดูแลพืชผลทางการเกษตรให้กับนักเรียน ทำให้นักเรียนได้รับความรู้ทั้งด้านทฤษฏีและการลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน ส่งผลให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่เกิดกับผู้เรียน คือ 1) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ในการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านทักษะกระบวนการ และด้านการปฏิบัติตน 2) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 4 ข้อ คือ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง และมุ่งมั่นในการทำงาน
1.2 ฐานที่ 2 การประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุเหลือใช้ ผู้บริหาร ครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษา ร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการให้ความรู้ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมที่นักเรียนจะได้ลงปฏิบัติจริงทุกขั้นตอนให้ครอบคลุม มีความปลอดภัยจากการใช้อุปกรณ์และมีความเหมาะสมกับวัยของนักเรียน ผู้บริหารมอบหมายให้ครูผู้รับผิดชอบได้จัดกิจกรรมให้กับนักเรียนโดยแบ่งการประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุเหลือใช้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ งานประดิษฐ์ทั่วไป งานประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ และงานประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ และได้รับความอนุเคราะห์จากปราชญ์ชาวบ้านและผู้ทรงคุณวุฒิในชุมชน เข้ามาช่วยสอนการใช้ใบตอง มาประดิษฐ์เป็นส่วนประกอบหรือภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ขนม พิธีกรรม และวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดในชุมชนของตน ซึ่งการได้รับความรู้และปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่เกิดกับผู้เรียน คือ 1) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ในการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านทักษะกระบวนการ และด้านการปฏิบัติตน 2) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 4 ข้อ คือ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง และมุ่งมั่นในการทำงาน
1.3 ฐานที่ 3 ออมวันละนิดชีวิตพอเพียง ผู้บริหาร มอบหมายให้ครูประจำชั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทุกวันเพื่อให้นักเรียนได้เห็นถึงความสำคัญของการออมทรัพย์ ฝึกความมีวินัยของตัวเอง สามารถจัดการเงินที่ได้รับจากผู้ปกครองในแต่ละวันว่าจะแบ่งซื้อขนมและฝากออมทรัพย์เท่าไหร่ และเมื่อถึงกำหนดเวลาช่วงสิ้นเดือน ครูประจำชั้นจะรวบรวมเงินที่นักเรียนฝากไว้นำไปให้ครูฝ่ายการเงินนำเงินทั้งหมดไปฝาก ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาอำเภอลี้ และหากนักเรียนต้องการจะถอนเงินจากบัญชี จะต้องมาแจ้งที่ครูประจำชั้นเพื่อให้เตรียมแจ้งครูฝ่ายการเงินได้ไปถอนเงินตามความต้องการของนักเรียน จากการที่นักเรียนได้ทำกิจกรรมการออมทรัพย์เป็นประจำ ส่งผลให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่เกิดกับผู้เรียน คือ 1) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ในการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านทักษะกระบวนการ และด้านการปฏิบัติตน 2) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 4 ข้อ คือ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง และมุ่งมั่นในการทำงาน
1.4 ฐานที่ 4 สวดมนต์ประจำสัปดาห์ทุกวันศุกร์ ผู้บริหาร มอบหมายให้ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการที่โรงเรียนได้จัดกิจกรรมการสวดมนต์ประจำสัปดาห์ทุกวันศุกร์ในปีการศึกษา 2560 และโรงเรียนได้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม “สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ซึ่งผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมทำให้โรงเรียนบ้านผาต้ายได้รับโล่เกียรติคุณและใบประกาศเกียรติคุณ รางวัล สถานศึกษาที่มียอดสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ระดับ ประถมศึกษา ประเภท ก อันดับที่ 2 ประจำอำเภอลี้ จากกิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชา ประจำปี 2560 ของคณะสงฆ์จังหวัดลำพูนและจังหวัดลำพูน โรงเรียนบ้านผาต้ายยังคงดำเนินกิจกรรมสวดมนต์ประจำสัปดาห์ทุกวันศุกร์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปีการศึกษา 2561 ซึ่งครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมจะให้นักเรียนทุกคนเข้ามายังห้องจริยธรรมเพื่อสวดมนต์ไหว้พระ โดยจัดตารางเรียนไว้ สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง คือในชั่วโมงสุดท้ายของทุกวันศุกร์ โดยได้แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่หนึ่งจะเป็นการสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิ เพื่อแสดงความเคารพและบูชาคุณพระรัตนตรัย และช่วงที่สองจะเป็นช่วงการอบรมนักเรียน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหลักธรรมทางศาสนา, การปลูกฝังคุณงามความดี, การมีจิตสาธารณะ, และความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นอกจากนั้นยังได้รับความเมตตาจากพระมหากาชาติ กลฺยาณธมฺโม รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทผาผึ้ง ได้เข้ามาให้ความรู้กับนักเรียนในเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า หลักธรรมะและคำสอนต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับวัยของนักเรียน จากการได้รับความรู้และการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่เกิดกับผู้เรียน คือ 1) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ในการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านทักษะกระบวนการ และด้านการปฏิบัติตน 2) คุณลักษณะอัน พึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 4 ข้อ คือ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง และมุ่งมั่นในการทำงาน
2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินงานโครงการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านผาต้าย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในแต่ละฐานการเรียนรู้ สรุปได้ดังนี้
2.1 ความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานกิจกรรมการเรียนรู้ฐานที่ 1 การปลูกพืชผักสวนครัวอยู่ในระดับมาก ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายตามบทบาทในสถานศึกษา พบว่า นักเรียน มีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมา คือ บุคคลอื่น ผู้ปกครองนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามลำดับ
2.2 ความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานกิจกรรมการเรียนรู้ฐานที่ 2 การประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุเหลือใช้อยู่ในระดับมาก ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายตามบทบาทในสถานศึกษา พบว่า บุคคลอื่น มีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้ปกครองนักเรียน นักเรียน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามลำดับ
2.3 ความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานกิจกรรมการเรียนรู้ฐานที่ 3 ออมวันละนิดชีวิตพอเพียงอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายตามบทบาทในสถานศึกษา พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้ปกครองนักเรียน บุคคลอื่น นักเรียน และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามลำดับ
2.4 ความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานกิจกรรมการเรียนรู้ฐานที่ 4 การสวดมนต์ประจำสัปดาห์ทุกวันศุกร์อยู่ในระดับมากที่สุด ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายตามบทบาทในสถานศึกษา พบว่า ผู้ปกครองนักเรียน มีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมา คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษา บุคคลอื่น นักเรียน และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษา
1.1 ฐานการปลูกพืชผักสวนครัว โรงเรียนควรเพิ่มเติมกิจกรรมจากเดิมที่ให้นักเรียนแจกจ่ายผักที่ปลูกเพื่อนำไปประกอบอาหารที่บ้าน ควรใช้วิธีการแบบบูรณาการโดยให้นักเรียนนำผักที่ปลูกไปขายในชุมชนหรือฝากขายที่ร้านค้าในชุมชน ถึงแม้จะมีปริมาณน้อย แต่หากให้นักเรียนได้เรียนรู้การขาย การทำบัญชีรับจ่าย จะเป็นการฝึกทักษะชีวิตได้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปได้
1.2 ฐานการประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุเหลือใช้ โรงเรียนควรฝึกฝนทักษะและฝีมือให้กับนักเรียนในส่วนของโดยเฉพาะ รากไม้มีชีวิตและการทำกระทง ให้นักเรียนสามารถพัฒนาต่อยอดทำออกมาจำหน่ายได้ โดยนักเรียนได้ฝึกฝนการคำนวณต้นทุน และการวางแผนที่จะตั้งราคาและจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือในการคิดสร้างสรรค์ให้เกิดความสวยงามและสร้างความน่าสนใจ ซึ่งสามารถกลายเป็นอาชีพเสริมให้กับนักเรียนได้
1.3 ฐานออมวันละนิดชีวิตพอเพียง โรงเรียนควรปรับรูปแบบกิจกรรมโดยติดต่อประสานงานกับธนาคารเพื่อเปิดบัญชีของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกข้อมูลและเป็นระบบ สามารถตรวจสอบได้ เมื่อถึงเวลาก็นำสมุดบัญชีเงินฝากของนักเรียนนำไปฝากกับธนาคารตามที่ได้กำหนดเวลาไว้
1.4 ฐานสวดมนต์ประจำสัปดาห์ทุกวันศุกร์ โรงเรียนควรเพิ่มเติมกิจกรรมโดยใช้คลิปวิดีโอจาก YouTube นำมาใช้เป็นสื่อให้นักเรียนได้เห็นเนื้อหาและเป็นการจำลองสถานการณ์ที่ตรงกับเนื้อหาด้านคุณธรรมจริยธรรม ที่ครูที่รับผิดชอบต้องการนำเสนอกับนักเรียน จะช่วยให้นักเรียนสนุกสนานกับการเรียนรู้ผ่านสื่อซึ่งมีหลากหลายและเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจได้ง่าย ซึ่งสื่อจะช่วยลดภาระงานของครูและสื่อสารกับนักเรียนได้ง่ายมากขึ้น
2. ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาถึงกิจกรรมที่นักเรียนสนใจ เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนานักเรียนตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนในลำดับต่อไป
2.2 ควรใช้กิจกรรมที่หลากหลายนอกเหนือไปจากการจัดกิกรรมทั้งในและนอกโรงเรียน เช่น การศึกษาดูงานโรงเรียนตันแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียงหรือศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง
2.3 ควรมีการประสานความสัมพันธ์กับชุมชน หน่วยงานใกล้เคียงให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เป็นการจัดกิจกรรมการพัฒนานักเรียนตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกันอย่างยั่งยืน