รายงานการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ส่งเสริมทักษะกระบว
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางกฤษณา สิทธิแพทย์
สถานที่ โรงเรียนบ้านห้วยหวาย อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 4
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาและพัฒนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 และ 2) เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้านการสังเกต การจำแนก การลงความเห็น และการสื่อสารของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านห้วยหวาย อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 9 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ 1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 3 เล่ม เล่มละ 5 หน่วยการเรียน หน่วยละ 3 กิจกรรม รวมทั้งหมด 15 หน่วย 45 กิจกรรม 2) แผนการจัดประสบการณ์กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 3 เล่ม เล่มละ 5 หน่วยการเรียน หน่วยละ 3 แผน รวมทั้งหมด 15 หน่วย 45 แผน และ 3) แบบประเมินความสามารถด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ชนิดสถานการณ์ปฏิบัติ โดยการประเมินจำแนกตามทักษะ 4 ด้าน คือ การสังเกต การจำแนก การลงความเห็น และการสื่อสาร จำนวน 4 ชุด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีความสอดคล้อง และค่าสถิติ t - test แบบ Dependent
ผลการศึกษาและพัฒนา พบว่า
1. ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ส่งเสริมทักษะ
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยรวมหลังการจัดกิจกรรมอยู่ในระดับดีมาก
2. ผลการเปรียบเทียบพัฒนาการทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้านการสังเกต การจำแนก การลงความเห็น และการสื่อสารของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีคะแนนเฉลี่ยหลังการจัดกิจกรรมสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ และเมื่อจําแนกรายทักษะ พบว่า อยู่ในระดับดีมาก ทั้ง 4 ทักษะ คือ ทักษะการสังเกต ทักษะการจําแนกประเภท ทักษะการลงความเห็น และทักษะการสื่อสาร