คณิตศาสตร์ ป.2
ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
ชื่อผู้วิจัย นายวีระพงษ์ พลเยี่ยม
โรงเรียน บ้านหนองหิ่งหาย อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
ปีการศึกษา 2557 ภาคเรียนที่ 1
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่องการบวกและการลบจำนวนนับที่มีผลลัพธ์และตัวตั้งไม่เกิน 1,000 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ และพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ร้อยละ 70 ขึ้นไปกลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนบ้านหนองหิ่งหาย อำเภอโพนทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3 จำนวน 14 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ จำนวน 16 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์ แบบฝึกทักษะ และแบบทดสอบย่อยท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ รูปแบบการวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มีวงจรปฏิบัติ 4 วงจร คือ วงจรปฏิบัติที่ 1 แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 – 4 วงจรปฏิบัติที่ 2 แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 5 – 8 วงจรปฏิบัติที่ 3 แผนการจัดการเรียนรู้ที่
9 – 12 วงจรปฏิบัติที่ 4 แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 13 – 16 โดยมีระยะเวลาดำเนินการทดลองตั้งแต่ วันที่ 16 มิถุนายน 2557– วันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ขั้นตอนการดำเนินการวิจัยคือ ขั้นวางแผน (Planning) ผู้วิจัยร่วมกับผู้ช่วยวิจัยร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ปัญหา และสร้างเครื่องมือในการวิจัย ขั้นการปฏิบัติการ (Action) ผู้วิจัยดำเนินการตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างขึ้น ขั้นการสังเกตการณ์ (Observation) ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยสังเกตและรวบรวมข้อมูลจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบบันทึกการสังเกตการจัดกิจกรรมของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน แบบบันทึกผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ และแบบสัมภาษณ์นักเรียน และขั้นการสะท้อนผลการปฏิบัติ (Reflection) ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากขั้นสังเกตการณ์มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ในครั้งต่อไป เมื่อสิ้นสุดการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละวงจรนักเรียนทำแบบทดสอบย่อยท้ายวงจรเพื่อประเมินประสิทธิภาพ และเมื่อสิ้นสุดการจัดการเรียนรู้ นักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การสะท้อนผลการปฏิบัติ ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมมาวิเคราะห์และสรุปรายงานผลใน2 ลักษณะคือ 1) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ การหาค่าเฉลี่ย การหาส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการหาค่าร้อยละ 2) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆด้วยตนเองมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เกิดทักษะในการทำงานกลุ่ม สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีการร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 79.23 สูงกว่าเกณฑ์การประเมินที่กำหนดร้อยละ 70 และมีนักเรียนคิดเป็นร้อยละ 85.71 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 70 ขึ้นไป ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์จำนวนนักเรียนที่กำหนดร้อยละ 75