วิจัย
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพครู และบุคลากรทางการศึกษาด้านการวิจัยในชั้นเรียน ปีการศึกษา 2556 ของโรงเรียนบ้านหลักด่าน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3 ในด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยใช้กรอบแนวคิดการประเมินตามรูปแบบ CIPP Model กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนบ้านหลักด่าน จำนวน 7 คน และนักเรียนโรงเรียนบ้านหลักด่าน จำนวน 71 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) และ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( )
ผลการศึกษา พบว่า
1. ความเหมาะสมของสภาวะแวดล้อมของโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านการวิจัยในชั้นเรียน ตามความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา จำแนกโดยรวมอยู่ในระดับ มาก โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันและปัญหาของโรงเรียน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ เป็นโครงการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
2. ความพร้อมของปัจจัยในการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านการวิจัยในชั้นเรียน ตามความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา จำแนกโดยรวมอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านบุคลากร ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านวัสดุอุปกรณ์ และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ บุคลากรได้รับคำสั่งมอบหมายงานอย่างชัดเจน และ ผู้บริหารโรงเรียนให้การสนับสนุน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ มีห้องสมุดที่ได้มาตรฐาน
3. ความเหมาะสมในการดำเนินการด้านกระบวนการของโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านการวิจัยในชั้นเรียน ตามความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา จำแนกโดยรวมอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ขั้นดำเนินงาน ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ขั้นเตรียมการ และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ การประชุมประจำเดือน ประชุมคณะกรรมการดำเนินโครงการ การศึกษา ดูงาน และ ครูมีการนำผลงานการวิจัยในชั้นเรียนไปพัฒนาตนเองและพัฒนางาน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ การใช้งบประมาณเป็นไปตามแผนและเพียงพอ
4. ความเหมาะสมในด้านผลผลิตของโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านการวิจัยในชั้นเรียน ตามความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา จำแนกโดยรวม อยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านครูผู้สอน ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านผู้บริหารโรงเรียน และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ผู้เรียนที่มีปัญหาในการเรียนได้รับการสอนซ่อมเสริม และ ครูอบรมสั่งสอนผู้เรียนให้ปฏิบัติตามระเบียบและเอาใจใส่ดูแลผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ผู้เรียนใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้
5. ผลการปฏิบัติงานของครูเกี่ยวกับการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนตามโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านการวิจัยในชั้นเรียน ตามความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา จำแนกโดยรวมอยู่ในระดับ มาก โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการวิจัยในชั้นเรียน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ การกำหนดตัวแปรในการวิจัยในชั้นเรียน และ การกำหนดวิธีการหรือสร้างนวัตกรรมในการวิจัยในชั้นเรียน
6. ความพึงพอใจของครูต่อการจัดกิจกรรมการวิจัยในชั้นเรียนตามโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านการวิจัยในชั้นเรียน จำแนกโดยรวมอยู่ในระดับ มาก โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ศึกษาดูงานทำให้เกิดประสบการณ์ในการพัฒนากิจกรรมการเรียน การสอน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ การสนทนาทางวิชาการเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
7. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู ตามโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านการวิจัยในชั้นเรียน จำแนกโดยรวม อยู่ในระดับ มาก โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ครูสร้างความสัมพันธ์และบรรยากาศในห้องเรียน ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ นักเรียนร่วมกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้