การพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุในชีวิตประจำวัน
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการสอน
โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5Es)
ผู้วิจัย : นางฐีตารีย์ วรรธนะคุณาสิน ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
โรงเรียนบ้านหนองแปน อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3
ปีที่ทำการศึกษา : ปีการศึกษา 2555
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุในชีวิตประจำวัน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการสอนโดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5Es) ให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75 ของคะแนนเต็ม กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 โรงเรียนบ้านหนองแปน อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3 จำนวน 6 คน
การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีการดำเนินการทั้งสิ้น 3 วงจรปฏิบัติการเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5Es) กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หน่วยที่ 4 เรื่อง วัสดุในชีวิตประจำวัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 10 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้สะท้อนการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกประจำวันครู แบบสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนและการสอนของครู แบบบันทึกความคิดเห็นของนักเรียน แบบสังเกตความสามารถในการแก้ปัญหาและแบบทดสอบท้ายวงจร 3)เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลการวิจัย ได้แก่ แบบทดสอบความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นแบบทดสอบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 28 ข้อ และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง วัสดุในชีวิตประจำวัน เป็นแบบทดสอบ ชนิดปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ
ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและการสะท้อนผลการปฏิบัติ โดยทำการวิเคราะห์และอภิปรายผลการปฏิบัติการปฏิบัติร่วมกับผู้ช่วยวิจัย เพื่อปรับปรุงแก้ไขการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และเมื่อดำเนินการจัดกิจกรรมเรียนรู้เสร็จสิ้นทั้ง 3 วงจร 10 แผนการจัดการเรียนรู้แล้ว นักเรียนได้ทำการทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุในชีวิตประจำวัน เพื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด และประเมินสรุปผลการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า
1.1 ผลการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา
พบว่า นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหา ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75 ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 83.33 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้
1.2 ผลการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุในชีวิตประจำวัน โดยมีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75 ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 83.33 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้