การพัฒนารูปแบบกิจกรรมการอ่านเน้นภาระงานเพื่อส่งเสริมความเข้าใจใน
นิทานพื้นบ้านประชาคมอาเซียน ความพึงพอใจต่อการอ่านภาษาไทย
แบบเพิ่มขยาย และความคงทนในการเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้วิจัย นางศิริรัตน์ เต็มรัตน์
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านหาดใหญ่) สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครหาดใหญ่
อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ปีที่พิมพ์ 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ทั่วไปเพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมการอ่านเน้นภาระงาน(SIRIRAT MODEL) และมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อ 1) ศึกษาผลการใช้รูปแบบกิจกรรมการอ่านเน้นภาระงานเพื่อส่งเสริมความเข้าใจในการอ่านนิทานพื้นบ้านประชาคมอาเซียน 2) ศึกษาผลการใช้รูปแบบกิจกรรมการอ่านเน้นภาระงานต่อความพึงพอใจในการอ่านภาษาไทยแบบเพิ่มขยาย 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบกิจกรรมการอ่านเน้นภาระงานต่อความคงทนในการเรียน และ 4) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนต่อการใช้รูปแบบกิจกรรมการอ่านเน้นภาระงาน
กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านหาดใหญ่) จำนวน 30 คน โดยระยะเวลาในการทดลอง 45 วัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) รูปแบบกิจกรรมการอ่านเน้นภาระงาน 2) แบบทดสอบความเข้าใจในการอ่านก่อนและหลังการใช้รูปแบบกิจกรรม 3) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการอ่านภาษาไทยแบบเพิ่มขยาย และ 4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนต่อการใช้รูปแบบกิจกรรมการอ่านเน้นภาระงาน การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติใช้ Paired-Sample t-test เพื่อเปรียบเทียบความเข้าใจในการอ่านของผู้เรียนก่อน และหลังการใช้รูปแบบกิจกรรมรวมทั้งเปรียบเทียบผลการเรียนรู้หลังการใช้รูปแบบกิจกรรม และการสอบซ้ำเพื่อประเมินความคงทนในการเรียน และใช้การหาค่าขนาดอิทธิพลตรวจสอบขนาดผลต่างที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการใช้รูแบบกิจกรรม ใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานวิเคราะห์ค่าระดับความพึงพอใจต่อการอ่านแบบเพิ่มขยาย และความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมการอ่านเน้นภาระงาน และ ใช้ One-Sample t-test เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความพึงพอใจกับเกณฑ์ 3.50 ที่กำหนด
ผลการวิจัยพบว่า 1) รูปแบบกิจกรรมการอ่านเน้นภาระงานที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า SIRIRAT MODEL มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติงาน 3 ขั้นตอน คือ ขั้นก่อนปฏิบัติการ (Setting : S, Idea : I, Roles : R) ขั้นระหว่างปฏิบัติการ (Input : I, Rubric :R, Activities : A) และขั้นหลังปฏิบัติการ (Test : T) มีประสิทธิภาพ 83.73/81.27 อยู่ในระดับดีมาก และคะแนนความเข้าใจในการอ่านของกลุ่มตัวอย่างก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีขนาดผลเท่ากับ 6.39 หมายถึงระดับใหญ่มาก 2) ความพึงพอใจต่อการอ่านแบบเพิ่มขยายอยู่ในระดับมาก 3) คะแนนหลังเรียนและสอบซ้ำแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 หมายถึงนักเรียนมีความคงทนในการเรียน และ 4) ความคิดเห็นของนักเรียนต่อรูปแบบ (SIRIRAT MODEL) เป็นทางบวก