ผลการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การซ่อม ประกอบและลงโปรแกรมคอมฯ
มัธยมศึกษาตอนต้น ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ
ผู้วิจัย นางสาววรัญญา อุ่นนันกาศ
ปีพุทธศักราช 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) หาประสิทธิภาพของการใช้กิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง การซ่อม ประกอบและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 2) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลความรู้ใน เรื่อง การซ่อม ประกอบและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3) เปรียบเทียบ ผลการเรียนรู้ เรื่อง การซ่อม ประกอบและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก่อนและหลังการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เลือกเรียนหลักสูตรสู่ความเป็นเลิศด้านคอมพิวเตอร์ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่องการซ่อม ประกอบและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รายวิชาเพิ่มเติมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน จำนวน 23 แผน ใช้เวลาทดลอง 60 ชั่วโมง มีค่า IOC ตั้งแต่ 0.67 – 1.00 และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การซ่อม ประกอบและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นแบบทดสอบอัตนัย 30 ข้อ ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก มีความยากรายข้อ (P) ระหว่าง 0.20 ถึง 0.80 และค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (r) ระหว่าง 0.20 ถึง 1.00 มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.86 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพของแผนจัดการเรียนรู้ เกณฑ์ 80/80 ค่าดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index : E.I) และ t – test แบบ Dependent Sample
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. แผนการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การซ่อม ประกอบและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่สร้างขึ้นมีค่า เท่ากับ 83.81/82.50 มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80
2. การใช้กิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การซ่อม ประกอบและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมี ค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.6270 แสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียน คิดเป็นร้อยละ 62.70
3. นักเรียนที่ได้รับการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การซ่อม ประกอบและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สูงขึ้นกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05