การประเมินโครงการ
โรงเรียนบ้านดินแดงน้อย
ชื่อผู้วิจัย : นายสมพร เพชรประพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดินแดงน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษากระบี่
ปีที่ประเมิน : 2561
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านดินแดงน้อย มีวัตถุประสงค์เพื่อ
(1) ประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการบรรลุวัตถุประสงค์ ความเป็นไปได้
ในเป้าหมายของโครงการ ความเหมาะสมของกิจกรรม และความสอดคล้องของหลักการกับนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(2) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการด้านผู้บริหารและครู ด้านระบบบริหารจัดการ ด้านหลักสูตรสถานศึกษา ด้านทรัพยากร
และด้านสภาพแวดล้อม
(3) ประเมินกระบวนการการดำเนินโครงการ เกี่ยวกับกิจกรรมจริยธรรมวิถีอิสลาม กิจกรรมวันสำคัญ กิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมไทย
ในท้องถิ่น กิจกรรมอบรมคุณธรรม จริยธรรมนำชีวิตและกิจกรรมการจัดการสอนแบบบูรณาการ
(4) ประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับความคาดหวังในการนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และพฤติกรรมมีคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ จำนวน 89 คน ประกอบด้วย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 51 คน ครู จำนวน 6 คน ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 20 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน และผู้ทรงวุฒิ จำนวน 5 คนได้มาจากการเลือกแบบเจาะจงเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 6 ฉบับ ดังนี้ 1) แบบสอบถามประเมินประเด็นบริบทก่อนการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 2) แบบสอบถามประเมินประเด็นปัจจัยนำเข้า ประเมินระยะต้นและระหว่างโครงการ 3) แบบสอบถามประเมินประเด็นกระบวนการในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนด้านผลผลิตเกี่ยวกับความคาดหวัง การนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ 6) แบบสอบถาม ความคิดเห็นด้านผลผลิตเกี่ยวกับพฤติกรรมมีคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน โดยภาพรวมพบว่า ตัวชี้วัดประเด็นการประเมินทุกประเด็นและภาพรวมของโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งหมด คือ
1. ผลการประเมินประเด็นบริบทของโครงการในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีค่าความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ความเหมาะสมและ
ความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ ความเป็นไปได้ของเป้าหมาย ความต้องการจำเป็นของโครงการ ความเหมาะสมของกิจกรรม และความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมพบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีค่าความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านทรัพยากร ด้านหลักสูตรสถานศึกษา ด้านระบบบริหารจัดการ และ ด้านผู้บริหารและครู
3. ผลการประเมินประเด็นกระบวนการของโครงการ ในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์ การประเมินและอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีค่าความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ กิจกรรมอบรมคุณธรรม จริยธรรมนำชีวิต กิจกรรมจัดการสอนแบบบูรณาการ กิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมไทยในท้องถิ่น กิจกรรมจริยธรรมวิถีอิสลาม และกิจกรรมวันสำคัญ
4. ผลการประเมินประเด็นผลผลิตของโครงการ ในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีค่าความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่
ความคาดหวังการนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง พฤติกรรมมีคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน และความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
5. ผลการประเมินโครงการ ในภาพรวมของโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ประเด็นการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด คือ ประเด็นปัจจัยนำเข้าของโครงการและประเด็นผลผลิต
ของโครงการ ประเด็นการประเมินอยู่ในระดับมาก คือ ประเด็นบริบทของโครงการและประเด็นกระบวนการของโครงการ โดยตัวชี้วัด 18 ตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด 6 ตัวชี้วัด และอยู่ในระดับมาก 12 ตัวชี้วัด
ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินในครั้งต่อไป
1. ควรมีการศึกษาปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ที่ส่งผลต่อการดำเนินโครงการคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านดินแดงน้อย
2. การดำเนินโครงการควรมีการประเมินพฤติกรรมนักเรียนโดยใช้เครื่องมือที่มีมาตรฐาน เพื่อตรวจสอบผลผลิตในดำเนินการประเมินโครงการทุกปีการศึกษา เพื่อนำผลการประเมิน
มาเปรียบเทียบในการดำเนินการโครงการต่อไป
3. ควรนำผลการวิจัยที่ได้ ไปขยายผลในการปรับปรุงโครงการคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านดินแดงน้อย เพื่อพัฒนาประสิทธิผลการดำเนินโครงการต่อไป