การประเมินโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล)
อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
ผู้ศึกษา วรนุช แซ่เดี่ยว
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล)
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) ปีการศึกษา 2560 ได้แก่ ครูและนักเรียนของโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) จำนวนทั้งสิ้น 714 คน จำแนกเป็นครูปฏิบัติการสอน จำนวน 40 คนและนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 6 จำนวน 674 คน กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 200 คน ประกอบด้วยครู จำนวน 20 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 180 คน ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) เป็นแบบสอบถาม มีรายละเอียดดังนี้ ลักษณะของแบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยมี 2 ฉบับ คือฉบับที่ 1 เป็นแบบสอบถามสำหรับครู แบ่งเป็น 3 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบสอบถาม แบบสำรวจ รายการ (Checklist) ให้เลือกตอบ จำนวน 2 ข้อ ตอนที่ 2 แบบสอบถาม มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 46 ข้อ เกี่ยวกับประเมินด้านบริบท 7 ข้อ ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า 11 ข้อ ประเมินด้านกระบวนการ จำนวน 13 ข้อ และประเมินด้านผลผลิต จำนวน 15 ข้อ ตอนที่ 3 ความคิดเห็นอื่นๆ และข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) ซึ่งมีลักษณะเป็นคำถามปลายเปิด ฉบับที่ 2 เป็นแบบ สอบถามสำหรับนักเรียน แบ่งเป็น 3 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบสอบถาม แบบสำรวจ รายการ (Checklist) ให้เลือกตอบ จำนวน 2 ข้อ ตอนที่ 2 แบบสอบถาม มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ประเมินด้านผลผลิต จำนวน 15 ข้อ ตอนที่ 3 ความคิดเห็นอื่นๆ และข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) ซึ่งมีลักษณะเป็นคำถามปลายเปิด การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพื้นฐาน ความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการศึกษาพบว่า
1. สถานภาพส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถาม
1.1 สถานภาพส่วนบุคคลของครูพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 เป็นเพศหญิง และส่วนใหญ่ร้อยละ 55 มีประสบการณ์การสอนมากกว่า 10 ปี
1.2 สถานภาพส่วนบุคคลของนักเรียนพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.50 เป็นเพศชาย และส่วนใหญ่ร้อยละ 42.20 ศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
2. การประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สรุปได้ดังนี้
2.1 ผลการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ตามความคิดเห็นของครูโดยรวมทุกด้าน พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.36 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.32 ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านบริบทมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ ด้านผลผลิตและด้านกระบวนการ ตาม ลำดับ ส่วนด้านปัจจัยนำเข้ามีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
2.2 ผลการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ตามความคิดเห็นของครูด้านบริบท พบว่ามีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.61 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.35 ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และเมื่อพิจารณาเป็นรายการพบว่า รายการโครงการอาหารกลางวันมีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์โรงเรียนและรายการโครงการอาหารกลางวันมีวัตถุประสงค์ในด้านการลดปัญหาการขาดสารอาหารในวัยเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ รายการโครงการอาหารกลางวันมีแนวทางดำเนินงานที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครองและชุมชน ส่วนรายการโครงการอาหารกลางวันช่วยลดปัญหาการขาดเรียนของนักเรียน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
2.3 ผลการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ตามความคิดเห็นของครูด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.21 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.44 ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และเมื่อพิจารณาเป็นรายการพบว่า รายการโครงการอาหารกลางวันมีแหล่งการเงินสนับสนุนด้านงบประมาณ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ รายการโครงการอาหารกลางวันมีงบประมาณในการดำเนินงานเพียง พอ ส่วนรายการมีการจัดโต๊ะและเก้าอี้ สำหรับรับประทานอาหารกลางวันอย่างเพียงพอกับจำนวนนักเรียน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
2.4 ผลการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ตามความคิดเห็นของครูด้านกระบวนการ พบว่ามีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.33 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.38 ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และเมื่อพิจารณาเป็นรายการพบว่า รายการการจัดกิจกรรมตามโครงการอาหารกลางวันเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ รายการครูเวรประจำวันในแต่ละวัน ดูแลควบคุมการรับประทานอาหารกลางวันของนักเรียนให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนรายการโครงการอาหารกลางวันมีการให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น มารยาทในการรับประทานอาหาร การจัดป้ายนิเทศ เป็นต้น มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
2.5 ผลการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ตามความคิดเห็นของครูด้านผลผลิต พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.38 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.37 ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และเมื่อพิจารณาเป็นรายการพบว่า รายการนักเรียนได้รับอาหารเสริม เช่น ขนมหวานหรือผลไม้ตามฤดูกาลอย่างเหมาะสม มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ รายการโครงการอาหารกลางวันมีส่วนช่วยลดปัญหานักเรียนขาดสารอาหาร ส่วนรายการนักเรียนมีมารยาทในการรับประทานอาหารกลางวัน เช่น การเคี้ยวอาหาร การพูดคุยระหว่างการรับประทานอาหาร มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
2.6 ผลการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ตามความคิดเห็นของนักเรียนด้านผลผลิต พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.08 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.47 ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และเมื่อพิจารณาเป็นรายการพบว่า รายการนักเรียนมีความพึงพอใจคุณภาพและการรับบริการอาหารกลางวัน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ รายการนักเรียนล้างมือก่อนรับประทานอาหารกลางวัน ส่วนรายการนักเรียนแปรงฟันหลังรับประทานอาหารกลางวัน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด