รายงานการประเมินโครงการบริหารจัดการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโ
ผู้ประเมิน นางแคทรียา หลักมั่น
ปีการศึกษา 2555
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการบริหารจัดการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนอนุบาลลำปาง(เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) ปีการศึกษา 2555 ในด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต และเพื่อการศึกษาปัญหา อุปสรรค แนวทางในการแก้ไขปัญหา และการปรับปรุงพัฒนา โดยการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตัวอย่างในการตอบแบบสอบถามรวมจำนวน 633 คน และกลุ่มตัวอย่างการจัดกิจกรรมสนทนากลุ่มรวมจำนวน 36 คน คือ คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินงาน นักเรียน และผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลลำปาง(เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) เครื่องมือที่ใช้การประเมินเป็นแบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ช่วง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และแบบข้อคำถามสนทนากลุ่ม โดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)
ผลการประเมินพบว่า คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการ นักเรียนและผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลลำปาง(เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) มีความคิดเห็นในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด 2 ด้าน และระดับมาก 2 ด้าน เรียงอันดับตามค่าเฉลี่ยจากสูงสุดไปหาต่ำสุด ได้แก่ 1) ด้านผลผลิต 2) ด้านกระบวนการ 3) ด้านปัจจัยเบื้องต้น 4) ด้านบริบท และเมื่อจำแนกความคิดเห็นของผู้ประเมินรายด้าน เรียงอันดับตามค่าเฉลี่ยจากสูงสุดไปหาต่ำสุด พบว่า
1) ด้านผลผลิต อันดับแรก คือ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนอันดับสุดท้ายคือ นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับปัญหาทางด้านสุขภาพ ระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก
2) ด้านกระบวนการ อันดับแรก คือ ครูจัดทำระเบียนสะสม ปพ.5, ปพ.6 ของนักเรียนรายบุคคลอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจุบัน ระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนอันดับสุดท้ายคือ ครูจัดเก็บข้อมูลนักเรียนอย่างเป็นระบบ สามารถนำมาใช้ได้สะดวก รวดเร็ว ระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก
3) ด้านปัจจัยเบื้องต้น อันดับแรก คือ มีคำสั่งแต่งตั้งและมอบหมายให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่ในโครงการบริหารจัดการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนชัดเจน ระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนอันดับสุดท้าย คือ บุคลากรมีความตระหนักและรับผิดชอบในการดำเนินงานตามโครงการบริหารจัดการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก
4) ด้านบริบท อันดับแรก คือ โรงเรียนนำนโยบายเกี่ยวกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของหน่วยงานต้นสังกัดมาดำเนินการ ระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนอันดับสุดท้าย คือ โรงเรียนจัดการให้มีการประชุมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้กับผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง ระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง
ผลการศึกษาปัญหา อุปสรรค พบแนวทางในการแก้ไขปัญหาและการปรับปรุงพัฒนา โดยการสนทนากลุ่มของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
1) ด้านผลผลิต พบว่า โรงเรียนควรให้ความรู้กับนักเรียนโดยการจัดอบรม จัดกิจกรรมส่งเสริม โรงเรียนและผู้ปกครองควรเอาใจใส่นักเรียนที่มีปัญหาให้มาก ควรจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
2) ด้านกระบวนการ พบว่า ครูจัดทำข้อมูลและระเบียนสะสมเชิงลึก พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนให้ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการด้วยความรวดเร็วและถูกต้องพร้อมทั้งรายงานให้ผู้ปกครองทราบ และควรจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับความถนัด ความสนใจและตามความสามารถตลอดจนข้อจำกัดด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจของผู้เรียน โรงเรียนควรให้ความเอาใจใส่กับนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยการให้คำปรึกษาเบื้องต้น
3) ด้านปัจจัยเบื้องต้น พบว่า โรงเรียนควรอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้แก่ครู ควรมีการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนมาช่วย ควรพัฒนาการดำเนินการจัดการระบบสารสนเทศให้รวดเร็วและเป็นระบบ พร้อมต่อการใช้งาน
4) ด้านบริบท พบว่า โรงเรียนควรจัดประชุมให้ความรู้ผู้ปกครองเรื่องระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ควรมีทีมงานที่ทำหน้าที่ประสานบุคคล หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ โรงเรียนต้องดำเนินการสรุปผล และประเมินผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอทุกขั้นตอน และนำผลการประเมินไปใช้ในการวางแผนการดำเนินงานในปีต่อไป และต้องให้ความสำคัญถึงความจำเป็นที่ต้องมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาโรงเรียน