การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การใช้อินเตอร์เน็ตในชีว
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้ศึกษา นางสาวปสุตา แฝงสาเคน ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลสามัคคีวิทยา กองการศึกษา เทศบาลเมืองมหาสารคาม
จังหวัดมหาสารคาม
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การใช้อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) ประเมินคุณภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 3) เปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 4) ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 5) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 6) ศึกษาความคงทนในการเรียนรู้หลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาลสามัคคีวิทยา กองการศึกษา เทศบาลเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ได้มาโดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวนนักเรียน 23 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จำนวน 1 ชุด 2) แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จำนวน 12 แผน 3) แบบประเมินคุณภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 20 ข้อ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (x-bar) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบสมมติฐานใช้ t-test (Dependent Sample) ผลการศึกษาพบว่า
1. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.62/83.89 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน มีคุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด
( x-bar = 4.60, S.D. = 0.50)
3. ดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน มีค่าเท่ากับ 0.8117 หรือคิดเป็น
ร้อยละ 81.17
4. นักเรียนมีคะแนนหลังเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
5. นักเรียนมีความพึงพอใจในการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโดยรวม
อยู่ในระดับมากที่สุด ( x-bar= 4.57 , S.D. = 0.50)
6. นักเรียนมีความคงทนในการเรียนรู้ เมื่อเวลาผ่านไป 7 วัน คะแนนลดลงร้อยละ 7.11 ซึ่งเกณฑ์กำหนดลดลงได้ไม่เกินร้อยละ 10 และเมื่อเวลาผ่านไป 30 วัน คะแนนลดลงร้อยละ 23.89
ซึ่งเกณฑ์กำหนดลดลงได้ไม่เกินร้อยละ 30 ความคงทนในการเรียนรู้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด