การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถ
ผู้วิจัย นายกิตติกร เชื้อชะเอม
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อทดลองรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 30 คน ได้มาด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ด้วยวิธีจับสลากโดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย คู่มือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t - test dependent samples) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทำให้ได้องค์ประกอบของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ 4) เงื่อนไขสำคัญในการนำรูปแบบไปใช้ และ 5) การวัดและประเมินผล กระบวนการจัดการเรียนรู้ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนคือ 1) ขั้นรับรู้ปัญหา (Perceive Problem) 2) ขั้นระดมความคิด (Brainstorming) 3) ขั้นวางแผน (Plan a Solution) 4) ขั้นปฏิบัติ (Action) และ 5) ขั้นสรุปและกรองความคิด (Summary and Filtering Ideas)
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อันประกอบไปด้วยองค์ประกอบ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดการเรียนรู้ เงื่อนไขสำคัญในการนำรูปแบบไปใช้ การวัดและประเมินผล มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้นตอนคือ 1) ขั้นรับรู้ปัญหา (Perceive Problem) 2) ขั้นระดมความคิด (Brainstorming) 3) ขั้นวางแผน (Plan a Solution) 4) ขั้นปฏิบัติ (Action)
5) ขั้นสรุปและกรองความคิด (Summary and Filtering Ideas) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.06/80.89 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 ปรากฏว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3. ผลการทดลองรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก แปลความหมายได้ว่านักเรียนมีความพึงพอใจมากต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6