ผลการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง ถ้อยคำสำนวนไทย ชั้น ป.5
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางจรินทร น้อยผาง
สถานศึกษา โรงเรียนบ้านโคกฟันโปง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง ถ้อยคำสำนวนไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง ถ้อยคำสำนวนไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง ถ้อยคำสำนวนไทย ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง ถ้อยคำสำนวนไทย ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านโคกฟันโปง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 16 คน จำนวน 1 ห้องเรียน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง ใช้เวลาในการทดลอง 12 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง ถ้อยคำสำนวนไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน จำนวน 12 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ มีค่าความยากง่าย (P) อยู่ระหว่าง 0.35 – 0.74 และค่าจำแนก (r) อยู่ระหว่าง 0.24 – 0.71 ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.92 และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า ซึ่งมี 5 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก (rxy ) ตั้งแต่ 0.20 – 0.60 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.82 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบสมมติฐานใช้ t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง ถ้อยคำสำนวนไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.05/82.19 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดการเรียนรู้ เท่ากับ 0.6460 หรือนักเรียนมีคะแนนทางการเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.60 นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน โดยรวมอยู่ในระดับ พึงพอใจมากที่สุด