การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศฯ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5
The Development of School Administration Model for School Excellence: Ban Khaminnonhuana School,
Khon Kaen Primary Educational Service Area Office 5
สัญญพงศ์ ดีบุญมี ณ ชุมแพ
Sanyapong Deeboonmee Na Chumphae
ผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนบ้านขมิ้นโนนหัวนา (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5)
E-mail: sanyapong2517@gmail.com
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนบ้านขมิ้นโนนหัวนา 2) ออกแบบรูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ และ
3) ทดสอบประสิทธิภาพของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา ผู้วิจัยดำเนินการวิจัยออกเป็น 3 ระยะได้แก่ 1) สำรวจและวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาโรงเรียนบ้านขมิ้นโนนหัวนาสู่ความเป็นเลิศ กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักเรียน 7 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 12 คน ตัวแทนผู้ปกครอง 7 คน และตัวแทนจากชุมชนใกล้เคียง 6 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจง 2) ออกแบบรูปแบบการบริหารสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ศิษย์เก่าของโรงเรียน 5 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 12 คน ตัวแทนผู้ปกครอง 5 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 คน ตัวแทนจากชุมชนบ้านขมิ้น 5 คน และตัวแทนจากชุมชนบ้านโนนหัวนา 5 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามวัดระดับความคิดเห็น 3) ทดสอบประสิทธิภาพรูปแบบการบริหารสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ รูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศและแบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารสถานศึกษา ผลการศึกษาพบว่า คุณภาพในการบริหารงานของโรงเรียนบ้านขมิ้นโนนหัวนาภาพรวมอยู่ในระดับสูง ผู้บริหารสถานศึกษามีส่วนสำคัญในการกำหนดวิสัยทัศน์ของโรงเรียนเพื่อสร้างแนวทางการบริหารสถานศึกษา ครูและผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการให้ความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมของโรงเรียน นักเรียนมีส่วนสำคัญด้านการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น โรงเรียนควรมีการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนทั้งด้านวิชาการและคุณธรรมและการสรรหางบประมาณ รูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศประกอบด้วย (1) การกำหนดเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ ผู้เรียน การบริหารจัดการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง (2) การมีส่วนร่วม (3) รูปแบบนวัตกรรม “NOKKHAMIN Model” รูปแบบการบริหารสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านขมิ้นโนนหัวนา มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมากที่สุดซึ่งเมื่อนำไปใช้แล้วสามารถบรรลุตามเป้าหมายความสำเร็จครบทั้ง 5 ด้าน
คำสำคัญ: การบริหารสถานศึกษา การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษา ความเป็นเลิศ