การประเมินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฯ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5
The Project Evaluation of Developing Learning Achievement of 5 Subjects: Ban Khamin Nonhuana School,
Khon Kaen Primary Educational Service Area Office 5
สัญญพงศ์ ดีบุญมี ณ ชุมแพ
Sanyapong Deeboonmee Na Chumphae
E-mail: sanyapong2517@gmail.com
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้โรงเรียนบ้านขมิ้นโนนหัวนา โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบ CIPPIEST Model กลุ่มประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนระดับประถมศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนบ้านขมิ้นโนนหัวนา ตัวแทนผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนบ้านขมิ้นโนนหัวนา จำนวน 68 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้ได้แก่แบบสอบถามเพื่อประเมินโครงการทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ บริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต ผลกระทบ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความยั่งยืน และการถ่ายทอดต่อ ของโครงการ แบบสอบถามมีค่าความสอดคล้องของเนื้อหาและวัตถุประสงค์เท่ากับ 0.9 ผลการวิจัยพบว่า กิจกรรมของโครงการสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน วัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของสถานศึกษา กิจกรรมของโครงการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ สถานศึกษามีการกำหนดนโยบายในการจัดการศึกษา สถานศึกษามีการศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของผู้เรียนและผู้ปกครอง จากการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการยังพบว่าบุคลากรมีความรู้และความเชี่ยวชาญในการดำเนินกิจกรรมของโครงการ จำนวนบุคลากรในการดำเนินกิจกรรมของโครงการมีอย่างเพียงพอ และงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมของโครงการมีอย่างเพียงพอ โดยการประเมินกระบวนการในการดำเนินโครงการพบว่า มีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ มีการกำหนดระยะเวลาและงบประมาณในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งส่งผลให้การประเมินผลผลิตของโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ได้แก่ (1) ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้เพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ (2) ผู้เรียนมีผลการทดสอบระดับชาติเพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ (3) ผู้เรียนให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมของโครงการ (4) ผู้เรียนมีพัฒนาการในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ (5) ผู้เรียนมีพัฒนาการในการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และ (6) ผู้ปกครองให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของโครงการ นอกเหนือจากนี้โครงการยังส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาในหลายๆด้าน อาทิ สถานศึกษามีการจัดการศึกษาที่หลากหลายขึ้น สถานศึกษามีการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน และสถานศึกษามีการจัดโครงการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ เมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพของโครงการพบว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจต่อการจัดทำโครงการและสถานศึกษามีการจัดทำโครงการที่เป็นระบบการดำเนินโครงการมีความต่อเนื่องสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาต่อไปได้ในสถานศึกษาอื่นๆ
คำสำคัญ: การประเมินโครงการ, โครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน,
รูปแบบการประเมินโครงการแบบ CIPPIEST Model