รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน
ชื่อผู้ศึกษา นายนวกฤษต์ ปวนรัตน์
ปีการศึกษา 2560
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง ใน 4 ด้าน คือ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ประเมินความพึงพอใจผู้ปกครองที่มีต่อการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง ประชากรหรือแหล่งข้อมูล คือ ครู จำนวน 5 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้ปกครอง และจำนวน 42 คน โดยเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่ผู้รายงานสร้างขึ้น ฉบับที่ 1 แบบสอบถามการประเมินโครงการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .98 และฉบับที่ 2 แบบสอบถามความพึงพอใจผู้ปกครองที่มีต่อการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .94 วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่า ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งผลการประเมินโครงการสรุปได้ ดังนี้
1. การประเมินโครงการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง ในภาพรวม 4 ด้านพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด และด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือด้านสภาพแวดล้อม (Context : C) รองลงมา คือ ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input : I) และด้านผลผลิต (Product : P) ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านกระบวนการ (Process) และมีผลการประเมินโครงการรายด้าน ดังนี้
1.1 การประเมินโครงการพัฒนาการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง ด้านสภาพแวดล้อม (Context : C) พบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่ามีผลการประเมินอยู่ระดับในระดับมากถึงมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในเหมาะสมกับสภาพและบริบทของโรงเรียน การดำเนินงานตามโครงการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในเป็นงานที่จำเป็นของโรงเรียน วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับการดำเนินงานประกันคุณภาพภายใน ข้อที่มีผลการประเมินต่ำที่สุด คือหลักการ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการมีความเหมาะสม และสอดคล้องกัน
1.2 การประเมินโครงการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input : I) พบว่าอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าด้านวัสดุอุปกรณ์มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ด้านบริหารจัดการ ด้านงบประมาณ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ด้านบุคลากร
1.3 การประเมินโครงการพัฒนาการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง ด้านกระบวนการ (Process : P) พบว่าอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ผลการประเมินอยู่ระดับในระดับมาก ถึงมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียง 3 ลำดับแรก ได้แก่ จัดให้มีการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษา การกำหนดมาตรฐานการศึกษา การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษา ข้อที่มีผลการประเมินต่ำที่สุด คือ การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา
1.4 การประเมินโครงการพัฒนาการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง ด้านผลผลิต (Product : P) พบว่าอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ผลการประเมินอยู่ระดับในระดับมากถึงมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุด เรียง 3 ลำดับแรก ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในบรรลุตามวัตถุประสงค์ ผลที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายในเป็นไปตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ การใช้ระบบการประกันคุณภาพภายในเพื่อยกระดับคุณภาพการจัด การศึกษาให้ดียิ่งขึ้นข้อที่มีผลการประเมินต่ำที่สุด คือ ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของผู้เรียน
2. การประเมินความพึงพอใจผลการประเมินความพึงพอใจผู้ปกครองที่มีต่อการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง พบว่าอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ถึงมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุด เรียง 3 ลำดับแรกได้แก่ การชี้แจงผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในของโรงเรียนต่อผู้ปกครอง ชุมชน เครือข่าย ผู้เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่นต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียน โรงเรียนมีการเผยแพร่มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ข้อที่มีผลการประเมินต่ำที่สุด คือ โรงเรียนมีข้อมูลสารสนเทศที่เป็นระบบ
ข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการ
1. โครงการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนวัดนาเม็ง เป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาสถานศึกษา โรงเรียนควรนำจุดเด่นหรือความสำเร็จของการดำเนินงานไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการและรักษามาตรฐานการปฏิบัติของโครงการไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพของการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
2. รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียน วัดนาเม็ง สามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารโรงเรียน นำไปประยุกต์ใช้กับการรายงานผลการปฏิบัติงานตามโครงการที่มีลักษณะคล้ายกัน