การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาชีววิทยาโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาสำหรับ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย ศิริจันทร์ พุ่มศรีภักดิ์
ปีการศึกษา 2560
คำสำคัญ รูปแบบการเรียนการสอน, ชีววิทยา, การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน,
ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์, ความสามารถในการคิดแก้ปัญหา
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาชีววิทยาโดยใช้ปัญหาเป็นฐานตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ 1) เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบ การเรียนการสอน 2) เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน
การดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ 1) สร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการเรียนการสอน โดยผู้เชี่ยวชาญ ประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการเรียนการสอน และนำไปทดลองนำร่องกับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน 2) ทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นกับ กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนโรงเรียนชุมชนป้อมเพชรจำนวน 25 คน ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ใช้เวลาทดลอง 24 ชั่วโมง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test dependent, one-sample t-test
ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. ผลการสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการเรียนการสอน พบว่า
1.1 รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น คือ รูปแบบการเรียนการสอนวิชาชีววิทยาโดยใช้ปัญหาเป็นฐานตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มี 5 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียน การสอน การวัดและประเมินผล โดยกิจกรรมการเรียนการสอนมี 5 ขั้น คือ 1) การเชื่อมโยงสถานการณ์เพื่อระบุปัญหาให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญา 2) การพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ด้วย การไตร่ตรอง 3) การศึกษาค้นคว้าเพื่อเลือกแนวทางการแก้ปัญหา 4) การสรุปองค์ความรู้ใหม่จากสถานการณ์ปัญหา และ 5) การนำเสนอและประเมินผลการแก้ปัญหา ผลการตรวจสอบคุณภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการเรียนการสอนมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
1.2 รูปแบบการเรียนการสอน มีค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I) เท่ากับ 0.7011
2. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า
2.1 ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนก่อนเรียนภาพรวมส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีและหลังเรียนภาพรวมส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก
2.2 นักเรียนมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.3 นักเรียนมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาสูงกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 70 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05