รูปแบบการพัฒนาสมรรถภาพการสอนโดยการบูรณาการแบบสอดแทรก
ครูผู้สอน เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา
ผู้วิจัย : นางวรรณทนี คุปหิรัณย์
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการสถานศึกษา รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสถานศึกษา
โรงเรียนเทศบาลวัดธรรมโศภิต สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุทัยธานี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบ ทดลองใช้
และศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการพัฒนาสมรรถภาพการสอนโดยการบูรณาการแบบสอดแทรกสำหรับครูผู้สอน เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะแรกเป็นการวิจัยรูปแบบการพัฒนาสมรรถภาพการสอนของครูผู้สอน ระยะที่สองเป็นการพัฒนารูปแบบ ระยะที่สาม การนำรูปแบบที่พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้ และระยะที่สี่ เป็นการประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการพัฒนา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ครูผู้สอนระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนเทศบาลวัดธรรมโศภิต เทศบาลเมืองอุทัยธานี จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ คู่มือการพัฒนาสมรรถภาพการสอนฯตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ชุดประเมินสมรรถภาพการสอน ในด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านทักษะการปฏิบัติ และด้านเจตคติ แบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ประเด็นในการสนทนากลุ่มและสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test Dependent) และข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการพัฒนาสมรรถภาพการสอนโดยการบูรณาการแบบสอดแทรกสำหรับ
ครูผู้สอน เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา มีดังนี้
1.1 รูปแบบการพัฒนาสมรรถภาพการสอนที่พัฒนาขึ้น มีชื่อว่า พีเอเอเอสอี (PAASE Model) 5 ขั้นตอนประกอบด้วย ขั้นที่ 1 การเตรียมการเรียนรู้ (Preparation) ขั้นที่ 2 การวิเคราะห์ (Analysis) ขั้นที่ 3 การฝึกปฏิบัติ (Action) ขั้นที่ 4 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing)
ขั้นที่ 5 การประเมินผล (Evaluation)
1.2 แนวคิดการพัฒนาของรูปแบบ 3 แนวคิด คือ การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ
การเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์เป็นฐาน และการเรียนรู้ตามสภาพจริง
1.3 หลักการของรูปแบบการพัฒนา เป็นหลักการที่ระบุถึงการพัฒนาสมรรถภาพ
การสอนโดยบูรณาการแบบสอดแทรก สมรรถภาพการสอนเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ มีองค์ประกอบที่ต้องพัฒนา 3 ด้าน คือ 1) ด้านความรู้ความเข้าใจ 2) ด้านทักษะปฏิบัติ และ 3) ด้านเจตคติ
1.4 องค์ประกอบของการพัฒนามี 3 องค์ประกอบคือ 1)การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร 3 วัน 18 ชั่วโมง 2) การปฏิบัติการสอนโดยบูรณาการแบบสอดแทรกของครูผู้สอน 3) การนิเทศ กำกับติดตาม และประเมินการปฏิบัติการสอน โดยผู้บริหารและศึกษานิเทศก์
2. ผลการใช้รูปแบบและศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบ สรุปได้ดังนี้
2.1 ค่าเฉลี่ยพัฒนาการของสมรรถภาพการสอน ด้านความรู้ความเข้าใจ ทักษะปฏิบัติ และด้านเจตคติของครูผู้สอน หลังใช้รูปแบบสูงกว่าก่อนใช้รูปแบบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ .05
2.2 ค่าเฉลี่ยพัฒนาการด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ทั้ง 8 ด้าน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนกับครูผู้สอนที่ได้รับการพัฒนาตามรูปแบบที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05