ผลการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงการที่มีต่อความสามารถด้านการ
การจำแนกและการเปรียบเทียบของเด็กปฐมวัยของโรงเรียนเทศบาลสามัคคีวิทยา
เทศบาลเมืองมหาสารคาม
ชื่อผู้วิจัย : นางมณฑา พลโยธา
ปีที่วิจัย : ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาจำนวนของเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนความสามารถด้านการสังเกตการจำแนกและการเปรียบเทียบผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 75 ของคะแนนเต็ม และ 2) เปรียบเทียบความสามารถด้านการสังเกต การจำแนกและการเปรียบเทียบก่อนและหลังจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงการของเด็กปฐมวัย กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ของโรงเรียนเทศบาลสามัคคีวิทยา เทศบาลเมืองมหาสารคาม ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 21 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงการ และแบบทดสอบวัดความสามารถด้านการสังเกต การจำแนกและการเปรียบเทียบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การทดสอบไค-สแควร์และการทดสอบอันดับที่มีเครื่องหมายกำกับของวิลคอกสัน
ผลวิจัย พบว่า
1. เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงการมีความสามารถด้านการสังเกต การจำแนกและการเปรียบเทียบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75 ของคะแนนเต็มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงการมีความสามารถด้านการสังเกต การจำแนก และการเปรียบเทียบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05