การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องเลขยกกำลัง ชั้น ม.1
การเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill ที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์
เรื่อง เลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1. โรงเรียนกุดขอนแก่นวิทยาคม สำนักงานเขต
พื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25.
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill ที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อศึกษาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ที่ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill ที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 3) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ให้นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนกุดขอนแก่นวิทยาคม อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 28 คน ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ คือ แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 13 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตการจัดการเรียนรู้แบบบันทึกการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ ใบกิจกรรม แบบฝึกทักษะ และแบบทดสอบย่อย และ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดทักษะ การคิดวิเคราะห์ และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง เลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยประกอบด้วยข้อมูลเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill ที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ ทำให้ได้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดกิจกรรม 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน 2) ขั้นสอน ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย 3 ขั้น ดังนี้ (1) ขั้นสร้างความขัดแย้งทางปัญญา (2) ขั้นไตร่ตรอง จะแบ่งเป็น 2 ขั้นย่อย ๆ ได้แก่ ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย และขั้นไตร่ตรองระดับชั้นเรียน (3) ขั้นสร้างโครงสร้างใหม่ทางปัญญา ซึ่งในแต่ละขั้นตอนย่อยของขั้นสอนจะแทรกทักษะการคิดวิเคราะห์ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นกำหนดสิ่งที่จะวิเคราะห์และวัตถุประสงค์ ขั้นที่ 2 ขั้นกำหนดกฎเกณฑ์ หลักการ ขั้นที่ 3 ขั้นพิจารณาแยกแยะ และขั้นที่ 4 ขั้นสรุปผล 3) ขั้นสรุป
2. ทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนมีคะแนนทักษะ การคิดวิเคราะห์เฉลี่ยเท่ากับ 16.68 คิดเป็นร้อยละ 83.39
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 16.18 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 80.89 และมีนักเรียนผ่านเกณฑ์จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 82.14 ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้