รายงานการประเมินโครงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมเด็กปฐมวัย
ความซื่อสัตย์ โรงเรียนอนุบาลบ้านยูงทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ลักษณะผลงาน : การประเมินโครงการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่
ผู้ประเมิน : นางสาวมณีวรรณ สมพงษ์
ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านยูงทอง
ปีพุทธศักราช : 2560
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมเด็กปฐมวัยด้านวินัยและความซื่อสัตย์ โรงเรียนอนุบาลบ้านยูงทอง ปีการศึกษา 2560 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็น และความเป็นไปได้ของโครงการ ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ เกี่ยวกับความเหมาะสมของบุคลากรและความเหมาะสมของกิจกรรม ประเมินกระบวนการของโครงการเกี่ยวกับกิจกรรมที่ดำเนินการและการติดตามโครงการ ประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับความรู้เรื่องวินัยและความซื่อสัตย์ นักเรียนที่มีวินัยและความซื่อสัตย์ ตลอดจนความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการ โดยใช้รูปแบบประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ นักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 และ 3 จำนวน 110 คน ครูผู้สอน จำนวน 9 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 110 คน และคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 8 คน รวม 237 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบไปด้วย แบบสอบถาม จำนวน 7 ฉบับ แบบทดสอบ จำนวน 1 ฉบับ และแบบสัมภาษณ์ จำนวน 2 ฉบับ รวม 10 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอ้างอิงใช้ t-test แบบไม่อิสระ ซึ่งผลการประเมินโครงการสรุปผลได้ดังนี้
ผลการประเมิน โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็น เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ กระบวนการ บริบท ปัจจัยนำเข้า และผลผลิต ผลการประเมินรายประเด็นและตัวชี้วัด สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า ผ่านเกณฑ์ในระดับมากทั้ง 2 ตัวชี้วัดเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ ความเป็นไปได้ของโครงการและความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ผ่านเกณฑ์ในระดับมากทั้ง 2 ตัวชี้วัดเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความเหมาะสมของบุคลากรและความเหมาะสมของกิจกรรม
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์ในระดับมากที่สุดทั้ง 2 ตัวชี้วัด คือ กิจกรรมที่ดำเนินการ และการติดตามโครงการ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์ในระดับมากที่สุด 3 ตัวชี้วัด คือ นักเรียนมีความรู้เรื่องวินัยและความซื่อสัตย์ นักเรียนมีวินัยเพิ่มขึ้น และนักเรียนมีความซื่อสัตย์ เพิ่มขึ้น ผ่านเกณฑ์ในระดับมาก 1 ตัวชี้วัด คือ ความพึงพอใจของครูและกรรมการสถานศึกษาและผ่านเกณฑ์ในระดับปานกลาง 2 ตัวชี้วัด คือ ความพึงพอใจของนักเรียนและ ความพึงพอใจของผู้ปกครอง
ข้อเสนอแนะสำคัญ
1. ควรกำหนดพฤติกรรมนักเรียนเกี่ยวกับความมีวินัยและความซื่อสัตย์ เพื่อปลูกฝังนักเรียนให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น และจัดกิจกรรมสนองตอบความต้องการและความสนใจของนักเรียนให้หลากหลาย เพื่อสร้างแนวร่วมและเสริมสร้างด้านนี้ต่อไป โดยให้ครูและบุคลากรทุกคนทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ และควรกระทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและจริงจัง
2. ควรมีการศึกษาทบทวนและปรับปรุงตัวชี้วัดและรายการประเมินด้านบริบท และด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของโครงการให้สูงขึ้น และดำเนินอย่างยั่งยืนตลอดไป