การศึกษาชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษ
ผู้วิจัย สมบัติ สุระคำแหง
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ดนตรี) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล ๓ บ้านปากน้ำ สังกัดเทศบาลเมืองปัตตานี ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ดนตรี) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล ๓ บ้านปากน้ำ สังกัดเทศบาลเมืองปัตตานี 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ดนตรี) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล ๓ บ้านปากน้ำ สังกัดเทศบาลเมืองปัตตานี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาล ๓ บ้านปากน้ำ สังกัดเทศบาลเมืองปัตตานี จำนวน 22 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนจำนวน 6 ชุด ใช้เวลาทั้งสิ้น 20 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ดนตรี) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล ๓ บ้านปากน้ำ สังกัดเทศบาลเมืองปัตตานี แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบน มาตรฐาน ดัชนีประสิทธิผล และ สถิติการทดสอบที (t–test) แบบไม่อิสระ (Dependent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ดนตรี) มีประสิทธิภาพ 87.55/82.47
2. ชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ดนตรี) มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.6859 ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักเรียนที่เรียนด้วยชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์มีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.59
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ดนตรี) มีความพึงพอใจต่อชุดการสอนการเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ในระดับ มากที่สุด