การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต
ผู้วิจัย นางภัทรา มูลน้อย
โรงเรียน บ้านป่างิ้วหนองฮี อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง การบวก การลบ การคูณ และการหารทศนิยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ การคูณ และการหารทศนิยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 70 และมีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 70 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย จำแนกตามลักษณะของการใช้ดังนี้ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง การบวก การลบ การคูณ และการหารทศนิยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 14 แผน แต่ละแผนใช้เวลา 1 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตการณ์จัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน แบบบันทึกผลการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์ผู้เรียน และแบบทดสอบท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ใน การประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวงจรปฏิบัติการ 4 วงจร การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และสรุปความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
เรื่อง การบวก การลบ การคูณ และการหารทศนิยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นเตรียมความพร้อม สร้างความสนใจให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน โดยการแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ ทบทวนความรู้เดิม โดยการตอบคำถาม หรือการแข่งขันระหว่างกลุ่ม สถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้เชื่อมโยงความรู้ใหม่ที่จะเรียนต่อไป 2) ขั้นสอน เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง การบวก การลบ การคูณ และการหารทศนิยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้ (1) ขั้นเผชิญสถานการณ์ปัญหาและแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล เป็นการทำความเข้าใจปัญหา โดยครูเสนอสถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เหมาะสมกับวัย และความสามารถ ของนักเรียนจากสื่อ (2) ขั้นไตร่ตรองทางปัญญาระดับกลุ่มย่อย เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในกลุ่ม เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้สื่อ ช่วยในการหาคำตอบ พร้อมทั้งสรุปเป็นวิธีแก้ปัญหาของกลุ่ม (3) ขั้นไตร่ตรองระดับชั้นเรียน โดยผู้เรียนในกลุ่มส่งตัวแทนออกมาเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อกลุ่มใหญ่ระดับชั้น สมาชิกทุกคนในกลุ่มต่าง ๆ จะซักถาม และแสดงความคิดเห็นโดยครูให้คำปรึกษา และแก้ไขข้อบกพร่อง พร้อมทั้งเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ทุกคนเห็นว่าเหมาะสมและมีความเป็นไปได้มากที่สุด 3) ขั้นสรุป เป็นขั้นที่ผู้เรียนร่วมกันสรุปความคิดรวบยอด หลักการในเรื่องที่เรียน รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาที่ทุกคนตกลงร่วมกันทั้งชั้น โดยครูช่วยสรุปเพิ่มเติมในประเด็นที่สรุปได้ไม่ครอบคลุมเนื้อหา 4) ขั้นฝึกทักษะและนำไปใช้ ขั้นนี้ผู้เรียนจะทำแบบฝึกทักษะที่ครูสร้างขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างชำนาญ และ 5) ขั้นวัดผลประเมินผล เป็นขั้นประเมินความรู้ความเข้าใจ ของนักเรียนจากแบบฝึกทักษะ การเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ และผลงานนักเรียน
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 91.53 และมีนักเรียนผ่านเกณฑ์ 28 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด