การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหา
เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก การลบ การคูณ และการหารทศนิยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
โดยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
โรงเรียน โรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัญหาและความคาดหวังเกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก การลบ การคูณ และการหารทศนิยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) ศึกษาแนวทางการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา และ 3) ศึกษาผลการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระหว่างก่อนเรียนกับหลังการพัฒนา และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับเกณฑ์ กลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6โรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2 อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน 2) แบบทดสอบชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ 3) แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร จำนวน 3 ชุด ๆ ละ 10 ข้อ 4) แบบบันทึกการมีส่วนร่วม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสถิติสรุปอ้างอิง ได้แก่ สถิติทีที่กลุ่มตัวอย่างสัมพันธ์กัน (Dependent samples t-test) และ สถิติที กลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวเทียบกับเกณฑ์ (One samples t-test)
สรุปผลการวิจัย
1. ผลศึกษาปัญหาและความคาดหวังเกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา พบว่า คือ ปัญหาด้านการเรียนของนักเรียน ปัญหาด้านพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน ปัญหาที่เกิดจากครูผู้สอน
2. ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาที่เกิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่า 1) ครูและผู้ปกครองร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน 2) การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ควรมีการนำเข้าสู่บทเรียน มีสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม แบบฝึกทักษะและแบบบันทึกต่าง ๆ 3) ครูผู้สอนดำเนินการจัด การเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ ให้นักเรียนทำใบงานเป็นกลุ่ม และนำแบบฝึกทักษะไปทำเป็นการบ้าน 4) ผู้ปกครองให้คำแนะนำปรับปรุงแก้ไขประเมินผลการทำแบบฝึกทักษะของนักเรียน 5) สอนซ่อมเสริม และ 6) รูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน
3. ผลการพัฒนาการเกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา พบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมหลังการพัฒนามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สูงกว่าก่อนการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01