การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัยโรงเรียนเทศบาลฯ
(คือเวียงจ่ำ) อำเภอปง จังหวัดพะเยา
ผู้วิจัย : นเรศ อภัยลุน
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลตำบลงิม (คือเวียงจ่ำ)
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลงิม
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาการดำเนินงานและปัญหาการบริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัยโรงเรียนเทศบาลตำบลงิม (คือเวียงจ่ำ) อำเภอปง จังหวัดพะเยา 2. เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัยโรงเรียนเทศบาลตำบลงิม (คือเวียงจ่ำ) อำเภอปง จังหวัดพะเยา 3.เพื่อประเมินผลกระทบจากการบริหารงานโดยใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัยที่พัฒนาขึ้น ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1) ประชากรที่ใช้ในการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นสภาพดำเนินงานและปัญหาในการบริหารงานการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของสถานศึกษา ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน ครูผู้สอนปฐมวัย 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาปฐมวัยจำนวน 14 คน ผู้ปกครองนักเรียนปฐมวัย 130 คน รวม 152 คน 2) ประชากรที่ใช้ในการประชุมกลุ่ม เพื่อหาแนวทางในการบริหารงานการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของสถานศึกษา ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน ครูผู้สอนปฐมวัย 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาปฐมวัย จำนวน 14 คน ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนปฐมวัย 10 คน คณะกรรมการผู้สูงอายุโฮงเฮียนสร้างสุขเทศบาลตำบลงิม 17 คน ครูการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 1 คน ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมสุขภาพสำนักงานสาธารณสุขอำเภอปง 1 คน และผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมสุขภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1 คน รวม 52 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามและแบบดำเนินการประชุมกลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการดำเนินงานและปัญหาการบริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัยโรงเรียนเทศบาลตำบลงิม (คือเวียงจ่ำ) อำเภอปง จังหวัดพะเยา ในภาพรวมมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับ ปานกลาง เรียงค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ดังนี้ ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ และด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับครอบครัวของเด็ก
2. แนวทางการพัฒนาการบริหาร สถานศึกษาระดับปฐมวัยโรงเรียนเทศบาลตำบลงิม (คือเวียงจ่ำ) อำเภอปง จังหวัดพะเยา ด้วยรูปแบบปฐมวัย 4 G ได้แก่ 1) G= Good Health หมายถึง การมีสุขภาพที่ดีของเด็กปฐมวัย ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยมุ่งเน้นในการป้องกัน ไม่ให้เกิดโรค โดยเฉพาะโรคระบาดต่างๆที่มีในแต่ละช่วงฤดู และส่งเสริมการจัดประสบการณ์ที่สำคัญให้เด็กอย่างสม่ำเสมอโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เช่น การป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ได้แก่ กิจกรรมคัดกรองนักเรียน กิจกรรมเช็ดๆ แล้วทิ้ง กิจกรรมดื่มแล้วเก็บลงถัง กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการให้สมวัย ได้แก่ กิจกรรม “wood song” กิจกรรม“อุ้ยสอนหลาน หลานสอนอุ้ย” กิจกรรม“บันทึกความดี” 2) G = Good Environment หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้สำหรับเด็กโดยให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด ปลอดภัยและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติ และพัฒนาการของเด็กแต่ละคนตามศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคม – วัฒนธรรมของเทศบาลตำบลงิม ด้วยความรักและเอื้ออาทร และ ความเข้าใจของทุกคน ในด้านสิ่งแวดล้อมหรือการจัดสภาพแวดล้อมแบ่งเป็น 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ได้แก่ การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน 3) G = Good Service หมายถึง การให้บริการด้านการศึกษาในระดับปฐมวัยของเทศบาลตำบลงิมในด้านต่างๆที่ให้บริการเด็กนักเรียน ผู้ปกครองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยที่สำคัญ ได้แก่ กิจกรรมเยี่ยมบ้าน ธนาคารสื่อนิทาน 4) G = Good Governance หมายถึง การบริหารจัดการของเทศบาลตำบลงิมยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการในระบบปฐมวัยที่ให้ความสำคัญ และการเชื่อมโยงรอยต่อของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กทีปังกรการุณยมิตรและโรงเรียนเทศบาลตำบลงิม(คือเวียงจ่ำ) ได้แก่ 1) ด้านความมีระเบียบวินัย การมีสมาธิ และคุณธรรม ที่ทำร่วมกัน เช่น การฝึกการเข้าแถวเคารพธงชาติ การสวดมนต์ไหว้พระ การกล่าวคำแผ่เมตตา การปฏิญาณตน การทำสมาธิ เป็นต้น 2) การส่งต่อพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็ก และผู้มีส่วนร่วมมีความพึงพอใจต่อรูปแบบที่พัฒนาขึ้นในระดับมากที่สุด
3. ผลกระทบจากการบริหารงานโดยใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษา มีผลกระทบทางสุขภาพของนักเรียน ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ประกอบด้วย การมีสุขภาพดี (ดี) การดูแลสุขภาพ (เก่ง) และการมีความสุข (สุข) ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด และมีผลกระทบทางพัฒนาการเด็กตามคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ได้แก่ พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว (Gross motor : GM) พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา (Fine Motor : FM) พัฒนาการด้านการเข้าใจภาษา (Receptive Language : RL) พัฒนาการด้านการใช้ภาษา ( Expressive Language : EL) และพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม (Personal and Social : PS) พบว่า เด็กปฐมวัยพัฒนาการสมวัยทุกด้าน