การศึกษา เรื่อง ผลการพัฒนาทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูด
ชื่อเรื่อง : การศึกษา เรื่อง ผลการพัฒนาทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย
ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ โรงเรียนบ้านสันติสุข
ชื่อผู้ศึกษา : ศิริอร คำน้อย
ปีที่ทำการศึกษา : 2560
การศึกษา เรื่อง ผลการพัฒนาทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ โรงเรียนบ้านสันติสุข โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการพัฒนาทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสันติสุข ระหว่างการจัดประสบการณ์ และเพื่อเปรียบเทียบทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสันติสุข ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ เด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 อายุระหว่าง 5-6 ปี โรงเรียนบ้านสันติสุข สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 จำนวน 18 คน ซึ่งกำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 การศึกษาในครั้งนี้ ผู้ศึกษาทำการศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน ได้แก่ วันจันทร์ วันอังคาร และวันพุธ วันละ 20 นาที รวมเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ได้รับการจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 30 ครั้ง โดยกำหนดตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการจัดประสบการณ์ ได้แก่ หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ จำนวน 10 เล่ม แผนการจัดประสบการณ์ จำนวน 30 แผน และแบบทดสอบทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูด สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 30 ข้อ แล้วบันทึกผลเพื่อนำผลการสังเกตทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูดระหว่างการทดลอง และการเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง วิเคราะห์โดยนำมาหาค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการศึกษา
1. ผลการพัฒนาทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสันติสุข ระหว่างการจัดประสบการณ์ ผลปรากฏว่า มีค่าเฉลี่ย 8.51 คิดเป็นร้อยละ 70.88 แสดงให้เห็นว่า เด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสันติสุข มีพัฒนาการที่สามารถฟังคำคล้องจอง มีค่าเฉลี่ย 2.25 คิดเป็นร้อยละ 75.06 การปฏิบัติตามคำสั่ง มีค่าเฉลี่ย 2.12 คิดเป็นร้อยละ 70.53 การพูดคำคล้องจอง มีค่าเฉลี่ย 2.16 คิดเป็นร้อยละ 72.07 และการพูดคำศัพท์ มีค่าเฉลี่ย 1.98 คิดเป็นร้อยละ 65.90 กล่าวได้ว่า เด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสันติสุข มีภาพรวมทักษะทางภาษาทั้ง 4 พฤติกรรม ที่พัฒนาขึ้นทุกสัปดาห์
2. ผลการเปรียบเทียบทักษะทางภาษาของเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ ก่อนการได้รับการจัดประสบการณ์ มีค่าเฉลี่ย 3.04 คิดเป็นร้อยละ 40.56 หลังการจัดประสบการณ์ มีค่าเฉลี่ย 6.10 คิดเป็นร้อยละ 81.30 และมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.06 นั่นคือ การฟังคำคล้องจอง การปฏิบัติตามคำสั่ง การพูดคำคล้องจอง และการพูดคำศัพท์ ของเด็กปฐมวัย มีคะแนนหลังการจัดประสบการณ์ สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์