เผยแพร่ผลงาน
โรงเรียนบ้านตระเปียงเตีย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์
เขต 1
ผู้ศึกษาวิจัย นายธีรัตม์ ใจกล้า
ปีที่ศึกษาวิจัย ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของโรงเรียนบ้านตระเปียงเตีย โดยใช้รูปแบบของซิป (CIPP Model) แบ่งเป็นรายด้าน ดังนี้ 1) ด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ได้แก่ การประเมินจุดมุ่งหมาย สภาพความต้องการ สิ่งอำนวยความสะดวก และความจำเป็น 2) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ การประเมินเกี่ยวกับเอกสาร วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณ และบุคลากรในการดำเนินโครงการ 3) ด้านกระบวนการ (Process) ได้แก่ การประเมินเกี่ยวกับการวางแผนการจัดการและกิจกรรมในการดำเนินโครงการ 4) ด้านผลลัพธ์ (Product) ได้แก่ การประเมินผลงานหรือการบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของโครงการและเพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ
ประชากรที่ใช้มีจำนวนทั้งสิ้น 270 คน ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารและครู จำนวน 12 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 120 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 9 คน และ นักเรียน จำนวน 129 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นแบบประเมิน จำนวน 1 ฉบับ สถิติพื้นฐานที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ของโรงเรียนบ้านตระเปียงเตีย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 โดยใช้รูปแบบของซิป (CIPP Model) สรุปผลการประเมินแบ่งเป็นรายด้าน ดังนี้
1.1 ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ได้แก่ การประเมินจุดมุ่งหมาย สภาพความต้องการ สิ่งอำนวยความสะดวก และความจำเป็น ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครูผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียน ผลประเมินโดยภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด
1.2 ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ การประเมินเกี่ยวกับเอกสารวัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณ และบุคลากรในการดำเนินโครงการ ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครู ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียน ผลประเมินโดยภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมาก
1.3 ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process) ได้แก่ การประเมินเกี่ยวกับการวางแผนการจัดการและกิจกรรมในการดำเนินโครงการ ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครูผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียน ผลประเมินโดยภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมาก
1.4 ผลการประเมินด้านผลลัพธ์ (Product) ได้แก่ การประเมินผลงานหรือการบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครู ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียน ผลประเมินโดยภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ
จากการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมโรงเรียนบ้านตระเปียงเตีย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 สรุปได้ ดังนี้
2.1 ปัญหาและอุปสรรคของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริหารและครู ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียน พบว่า ด้านสภาวะแวดล้อมโดยส่วนใหญ่ภาครัฐกำหนดนโยบายมาให้ในบางครั้งไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายได้ และนโยบายกำหนดไว้มีมากไม่สามารถปฏิบัติให้ครบถ้วนได้ ด้านปัจจัยนำเข้าบุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจโครงการอย่างชัดเจน งบประมาณที่สนับสนุนไม่เพียงพอ และขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านกระบวนการ ขาดการประสานงานระหว่างชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการวางแผนร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ และโครงการขาดความต่อเนื่องและขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและจริงจังจากหน่วยงานต้นสังกัด และด้านผลลัพธ์พบว่าโครงการไม่สามารถประเมินผลในระยะสั้นได้
2.2 ข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริหารและครูผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียนพบว่า ควรเพิ่มงบประมาณที่สนับสนุนในการดำเนินงานตามโครงการเพื่อการประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วม ควรจัดประชุมอย่างสม่ำเสมอเพื่อหารูปแบบให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติเข้าใจตรงกัน ผู้บริหารระดับต่างๆ ควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานอย่างจริงจังมากกว่านี้ โรงเรียนควรจัดกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัดโรงเรียนและชุมชน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง และควรมีการประชาสัมพันธ์เรื่องการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในชุมชนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง