การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและ
ศาสนาและวัฒนธรรม สาระเศรษฐศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
โรงเรียนเทศบาล 3 ชุมชนวัดจันทราวาส
ผู้รายงาน : นางสาวเอื้อมพร จุ้ยสำราญ
ปีที่รายงาน : 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสาระเศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร 4 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 2) พัฒนาหลักสูตร 3) ทดลองใช้หลักสูตร 4) ประเมินและปรับปรุงหลักสูตร โดยทดลองใช้หลักสูตรกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 3 ชุมชนวัดจันทราวาส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ 2) แบบทดสอบ 3) แบบประเมินผลงานนักเรียน 4) แบบสอบถามความคิดเห็น การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าร้อยละ (%)ค่าเฉลี่ย (x ̅ )ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่า t-test แบบ Dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา(Content analysis)
ผลการศึกษาพบว่า :
นักเรียนและบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความต้องการให้พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสาระเศรษฐศาสตร์ ที่มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับท้องถิ่น ได้แก่ ต้องการเนื้อหาเกี่ยวกับการแปรรูปเกลือทะเล การบริการของศูนย์ส่งเสริมการแพทย์แผนไทย สหกรณ์ เศรษฐกิจพอเพียง สถาบันการเงิน ระบบสินเชื่อ ระบบภาษีอากร และต้องการรูปแบบการเรียนรู้โดยให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง นำผู้รู้ในท้องถิ่นมาร่วมสอน มีการศึกษาจากแหล่งเรียนรู้จริง เน้นการประเมินจากการปฏิบัติจริง การตรวจผลงาน และให้นักเรียนประเมินตนเอง ผลการพัฒนาหลักสูตร พบว่า องค์ประกอบของหลักสูตร ประกอบด้วย ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้ จำนวนคาบเรียน (เวลาเรียน) คำอธิบายรายวิชา หน่วยการเรียนรู้ แนวการจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล และแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 12 แผนการเรียนรู้ ประกอบด้วย สถาบันการเงิน ระบบสินเชื่อ สหกรณ์ ระบบภาษีอากร เศรษฐกิจพอเพียง การผลิต การบริโภค และการบริการและการจัดทำผลงาน การประเมินองค์ประกอบของหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า มีความสอดคล้องและเหมาะสม ผลการทดลองใช้หลักสูตร พบว่า นำหลักสูตรไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยมีการสอนร่วมกันระหว่างผู้วิจัย และผู้รู้ในท้องถิ่น มีการไปศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ ผลการประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตร พบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่มีการวางแผนการทำงาน ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นผู้ฟังที่ดี นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับสาระเศรษฐศาสตร์ ก่อนและหลังใช้หลักสูตร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 นักเรียนสามารถจัดทำผลงาน คือ แปรรูปเกลือทะเลได้ การทำแผ่นพับได้ นักเรียนเห็นด้วยปานกลางต่อหลักสูตร และเห็นว่าหลักสูตรช่วยเสริมการรักและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น