รายงานการใช้เอกสารประกอบการเรียน วิชาวงจรไฟฟ้ากระแสสลับ
ผู้วิจัย วารุณี ครื้นน้ำใจ
สถานศึกษา วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน วิชาวงจรไฟฟ้ากระแสสลับ รหัสวิชา 2105-2003 ครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาคุณภาพของเอกสารประกอบการเรียนและนำเอกสารประกอบการเรียนไปใช้ เพื่อหาประสิทธิภาพศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยเปรียบเทียบก่อนเรียนและหลังเรียน รวมทั้งศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียนวิชาวงจรไฟฟ้ากระแสสลับที่ผู้รายงานพัฒนาขึ้น
ประชากรได้แก่นักเรียนวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 2 ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาวงจรไฟฟ้ากระแสสลับ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 76 คน การเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ ใช้วิธีเลือกการสุ่มแบบเจาะจง จำนวน 1 กลุ่ม จำนวน 20 คน ดำเนินการทดลองโดยใช้แบบแผนการวิจัยแบบกลุ่มเดียว ทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน (One Group Pretest-Posttest Design) การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (t-test) การหาประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียน วิชาวงจรไฟฟ้ากระแสสลับ ใช้ค่าเฉลี่ย ( ) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ผลการศึกษาพบว่า
1.เอกสารประกอบการเรียนวิชาวงจรไฟฟ้ากระแสสลับ รหัสวิชา 2105-2003 มีประสิทธิภาพเท่ากับ
80.09 /80.18 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียน วิชาวงจรไฟฟ้ากระแสสลับ สูงกว่าก่อนการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อเอกสารประกอบการเรียน วิชาวงจรไฟฟ้ากระแสสลับ
อยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.51, S.D. = 0.50)