บทคัดย่อ รูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วม
ผู้วิจัย นางสาวเครือวัลย์ สงเล็ก
รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลวัดภูผามุข เทศบาลเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ปีวิจัย ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข 2) สร้างรูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข 3) ตรวจสอบรูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข และ 4) ศึกษาผลการประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข ก่อนนำออกเผยแพร่ต่อไป ประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยได้แก่ ครูผู้สอนในโรงเรียน จำนวน 55 คน ผู้ปกครองนักเรียนที่ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย จำนวน 290 คน ได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) และคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ รูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข มีค่าความเชื่อมั่น .9732 แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข มีค่าความเชื่อมั่น .9346 และแบบสอบถามเพื่อการประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข มีค่าความเชื่อมั่น .9754 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าเฉลี่ยร้อยละ และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และสถิติการบรรยาย
สรุปผลการวิจัย
1. การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการจากผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) พบว่า ครูผู้สอนมีความต้องการใช้วิธีการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วม 2) รูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข เทศบาลเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ที่สร้างมีชื่อว่า “PTME MODEL”(พีทีมี่โมเดล) ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ด้าน ประกอบด้วย องค์ประกอบที่ 1 ด้านการวางแผนงานวิชาการ (Plan : P) องค์ประกอบที่ 2 ด้านการจัดการเรียนการสอน (Teaching : T) องค์ประกอบที่ 3 ด้านการบริหารการเรียนการสอน (Teaching Management : M) และองค์ประกอบที่ 4 ด้านการวัดผลและประเมินผล (Measurement and Evaluation : E) โดยรวมผลการประเมินของผู้บริหารโรงเรียนพบว่า ทั้งรูปแบบและองค์ประกอบ มีความเหมาะสมและนำไปปฏิบัติได้อยู่ในระดับมากที่สุด โดยสูงสุดคือ รูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วม รองลงมาเป็นด้านองค์ประกอบด้านการวางแผนงานวิชาการ ลำดับต่อมาคือ องค์ประกอบด้านการบริหารการเรียนการสอน องค์ประกอบด้านการจัดการเรียนการสอน และองค์ประกอบด้านการวัดผลและประเมินผล ตามลำดับ
3. การทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ปีการศึกษา 2560 ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของทุกระดับชั้น สูงกว่าเกณฑ์เป้าหมายของโรงเรียน(ร้อยละ 70) โดยคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูอยู่ในระดับดีมาก คุณภาพการบริหารและจัดการอยู่ในระดับดี ผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมอยู่ในระดับดีมาก
4. รูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งรูปแบบและองค์ประกอบทั้ง 4 ด้าน มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด โดยสูงสุด คือ รูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วม รองลงมาคือ องค์ประกอบด้านการวางแผนงานวิชาการ ลำดับต่อมาคือ องค์ประกอบด้านการบริหารการเรียนการสอน องค์ประกอบด้านการจัดการเรียนการสอน และองค์ประกอบด้านการวัดผลและประเมินผล ตามลำดับ สามารถนำออกเผยแพร่เป็นผลงานทางวิชาการได้ต่อไป