การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนและโครงงานเป็นฐาน
ชื่อผู้วิจัย นางจุฬาวรรธน์ สะสม ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนตาลชุมพิทยาคม อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนรู้ โดยใช้ชุมชนและโครงงานเป็นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) ประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนและโครงงานเป็นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 3) ประเมินผลและพัฒนาการใช้รูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนและโครงงานเป็นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนตาลชุม พิทยาคม จำนวน 23 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster random sampling) ทดลองใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 เป็นเวลา 20 ชั่วโมง แบบแผนการทดลอง คือ One – Group Pretest Posttest Design เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนและโครงงานเป็นฐาน 2) หลักสูตรรายวิชา ท30209 วรรณกรรมท้องถิ่น สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 3) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 4 แผน 4) แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 5) แบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าที (t – test for dependent )
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนและโครงงานเป็นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า รูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนและโครงงานที่สร้างขึ้น มี 6 ขั้นตอน 1) ขั้นให้ความรู้พื้นฐาน 2) ขั้นตอนการระบุปัญหา 3) ขั้นวางแผน 4) ขั้นปฏิบัติ 5) ขั้นนำเสนอโครงงาน 6) ขั้นประเมินผล และมีประสิทธิภาพ 84.17/86.09 ตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. ประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนและโครงงานเป็นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุมชนและโครงงานเป็นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ผลการประเมินผลและพัฒนาการใช้รูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ชุมชน และโครงงาน เป็นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุมชนและโครงงานเป็นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.67, S.D. = 0.36)