รายงานการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและบุคลากรชุมชนในการจัดการคุณภาพ
คุณภาพการศึกษา โรงเรียนมัธยมบ้านแก้งวิทยา ปีการศึกษา 2560
ชื่อผู้ศึกษา นางนวลนิตย์ ถาวงษ์กลาง
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
รายงานการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและบุคลากรชุมชน ในการจัดการคุณภาพการศึกษา โรงเรียนมัธยมบ้านแก้งวิทยา ปีการศึกษา 2560 มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและบุคลากรชุมชน ในการจัดการคุณภาพการศึกษา โรงเรียนมัธยมบ้านแก้งวิทยา 2) เพื่อเปรียบเทียบระดับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและบุคลากรชุมชนในการจัดการคุณภาพการศึกษา โรงเรียนมัธยมบ้านแก้งวิทยา โดยจำแนกตามสถานภาพของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพและรายได้ และ3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจการพัฒนาการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและบุคลากรชุมชนในการจัดการคุณภาพการศึกษา โรงเรียนมัธยมบ้านแก้งวิทยา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในครั้งนี้ คือ ผู้ปกครองนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 225 คน ซึ่งได้โดยวิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงซึ่งใช้ตารางกำหนดกลุ่มตัวอย่างของเคร็ซซี่และมอร์แกน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการ แบบสอบถามการมีส่วนร่วมจัดการคุณภาพการศึกษา แบบสอบถามความพึงพอใจและเปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้ปกครอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผู้ปกครองและบุคลากรชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดการคุณภาพการศึกษา 4 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างมีส่วนร่วมโดยรวมอยู่ในระดับ ปานกลาง 2) ด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน กลุ่มตัวอย่างมีส่วนร่วมโดยรวมอยู่ในระดับ ปานกลาง 3) ด้านการพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กลุ่มตัวอย่างมีส่วนร่วมโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง 4) ด้านการส่งเสริมกิจกรรมชุมชน กลุ่มตัวอย่างมีส่วนร่วมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
2. การเปรียบเทียบระดับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและบุคลากรชุมชนในการจัดการคุณภาพการศึกษา ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างมีส่วนร่วมแตกต่างกันเมื่อจำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้
3. การศึกษาความพึงพอใจมีส่วนร่วม ของผู้ปกครองและบุคลากรชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดการคุณภาพการศึกษา โดยภาพรวมกลุ่มตัวอย่างมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจหลังการพัฒนาการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและบุคลากรชุมชนในการจัดการคุณภาพการศึกษามีความพึงพอใจสูงกว่าก่อนการพัฒนา