เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ โดย น.ส.กาญจนา ปึงเจริญ
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมาย (1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ เรื่องการใช้โปรแกรม MS Paint ก่อนเรียน ระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง (2) เพื่อศึกษาหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบแบบฝึกปฏิบัติ (Drill and Practice) ตามเกณฑ์ 80/80 ) (3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้หลังเรียน เรื่องการใช้โปรแกรม MS Paint ระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง (4) เพื่อเปรียบเทียบผลการฝึกปฏิบัติด้านการใช้โปรแกรม MS Paint หลังเรียนระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง (5) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบแบบฝึกปฏิบัติ (Drill and Practice) ที่ส่งเสริมต่อการรู้แบบร่วมมือและการทำงานร่วมกันเป็นทีม
ประชากร เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 5 ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งสิ้น 158 คน ประจำภาคเรียนที่ 1/2560 ของโรงเรียนเมืองสมุทรสงคราม กลุ่มตัวอย่าง ได้จากการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (cluster sampling) คือขั้นที่ 1 สุ่มโดยวิธีการจับสลากแบ่งห้องเรียน 5 ห้อง ออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มควบคุมมี 2 ห้องเรียน คือห้อง 2/1, 2/3 , และกลุ่มทดลอง มีจำนวน 3 ห้องเรียน คือห้อง 2/2, 2/4, 2/5 และขั้นที่ 2 เมื่อทำการทดลองเสร็จสิ้นแล้วจะสุ่มอย่างง่ายโดยวิธีการจับสลากเพื่อเลือกนักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม ในทุกๆ ห้องเรียนๆ ละ 15 คนมาทำการวิเคราะห์ข้อมูล จะได้กลุ่มควบคุม จำนวน 30 คน และกลุ่มทดลองจำนวน 45 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบทดสอบ แบบวัดทักษะการปฏิบัติ และแบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test
สรุปผลการศึกษา พบว่า (1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ก่อนเรียนของนักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม มีคะแนนเฉลี่ยไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (t=2.711. ,df=59)
(2) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบแบบฝึกปฏิบัติ (Drill and Practice) ทุกหน่วยย่อยการเรียนรู้ มีคะแนนประสิทธิภาพมีสูงกว่าเกณฑ์ โดยเฉลี่ย 82.64 /82.66 (3) คะแนนเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้หลังเรียนของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (t=15.719, df= 32.506) (4) ทักษะการใช้โปรแกรม MS Paint หลังการเรียนของกลุ่มทดลอง สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (t=5.348,df= 46.956 และ (5) นักเรียนกลุ่มทดลอง โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มีความพึงพอใจต่อการสอนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบชุดฝึกปฏิบัติ (Drill and practice) อยู่ในระดับดี ถึง ดีมาก และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้แบบการฝึกปฏิบัติและการร่วมมือกันเป็นกลุ่มและการทำงานเป็นทีม สามารถทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลในทางบวกทุกด้าน
คำสำคัญ : บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน , แบบฝึกปฏิบัติ, การเรียนรู้แบบร่วมมือ, ความพึงพอใจ
นางสาวกาญจนา ปึงเจริญ
ครูชำนาญการ โรงเรียนเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม