การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีคอนสตรักติวิซึม
ชื่อผู้วิจัย : นางสุภาวดี นพพล
สถานศึกษา : โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก เทศบาลนครนครศรีธรรมราช
จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปีการศึกษา : 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีคอนสตรักติวิซึม เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณทางชีววิทยา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก 2) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพเชิงประจักษ์ของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีคอนสตรักติวิซึม เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณทางชีววิทยา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก โดยวิธีการทดสอบสมมติฐาน จากการเปรียบเทียบมโนทัศน์ทางชีววิทยาก่อนและหลังเรียน เปรียบเทียบความสามารถด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนและหลังเรียน และศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยกำหนดรูปแบบการทดลองแบบหนึ่งกลุ่มทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (One-Group Pretest Posttest Design) กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก จำนวน 31 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบทดสอบวัดมโนทัศน์ทางชีววิทยา แบบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนต่อรูปแบบการเรียนการสอน ทดลองสอนโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น จำนวน 7 แผน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
1) รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีคอนสตรักติวิซึม เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ทางชีววิทยาและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก เรียกว่า VICSA Model ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระความรู้ และเงื่อนไขการนำรูปแบบการเรียนการสอนไปใช้ มีกระบวนการเรียนการสอน 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นตรวจสอบความรู้เดิม (Verifying Knowledge : V) 2) ขั้นเติมความรู้ใหม่ (Instructing Fundamental Knowledge and Skill : I) 3) ขั้นใส่มโนทัศน์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Constructing Concepts and Critical Thinking : C) 4) ขั้นแบ่งปันความรู้รอบ (Sharing Knowledge : S) และ 5) ขั้นตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ (Assessing Knowledge and Understanding : A
2) ผลการตรวจสอบประสิทธิภาพเชิงประจักษ์ของรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีคอนสตรักติวิซึม เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณทางชีววิทยา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก พบว่า มโนทัศน์ทางชีววิทยาของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนเห็นด้วยกับการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก